ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ปลัดมท.ประชุมชี้แจงโครงการหมู่บ้านละ 2.5 แสนบาท พร้อมดำเนินโครงการฯทั่วประเทศ1พ.ย.นี้


 



ปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธานการประชุมชี้แจงโครงการยกระดับศักยภาพหมู่บ้านฯ หรือ โครงการหมู่บ้านละ 2.5 แสนบาท เร่งกระตุ้นเศรษฐกิจระดับพื้นที่ทั้งทางตรงและทางอ้อม พร้อมดำเนินโครงการฯ ทั่วประเทศ 1 พฤศจิกายนนี้

วันนี้ (31ต.ค.59) ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 2 ศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย นายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมชี้แจงโครงการยกระดับศักยภาพหมู่บ้านเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐประจำปี2560 (โครงการหมู่บ้านละ 2.5 แสนบาท) โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมในส่วนกลาง ประกอบด้วย ผู้แทนจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงกลาโหม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงบประมาณ กรมบัญชีกลาง และถ่ายทอดสดผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกล (Video conference) ไปยังทุกจังหวัดทั่วประเทศ โดยมี ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในส่วนภูมิภาคเข้าร่วมรับฟังการประชุมฯ

โดยในวาระแรก ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้กล่าวถึงที่มาของการดำเนินโครงการฯ ซึ่งเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2559 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินโครงการผ่านคณะกรรมการหมู่บ้าน เพื่อพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ภูมิภาคทั้งทางด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม และด้านสาธาณประโยชน์ สอดคล้องกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืนและเป็นไปความต้องการของประชาชนในพื้นที่ตามแนวทางประชารัฐ มีเป้าหมายดำเนินการในหมู่บ้านทั้งหมด 74,655หมู่บ้านทั่วประเทศ โดยสนับสนุนงบประมาณให้หมู่บ้านละ 2.5 แสนบาท เป็นงบประมาณรวมทั้งสิ้น 18,760 ล้านบาท กรอบระยะเวลาดำเนินการภายใน 90 วัน ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2559 - 31 มกราคม 2560

ทั้งนี้ สำหรับการดำเนินโครงการยกระดับศักยภาพหมู่บ้านฯ ในปี 2559 ที่ผ่านมา กระทรวงมหาดไทยได้ดำเนินโครงการหมู่บ้านละ 2 แสนบาทแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม2559 จากผลการดำเนินโครงการดังกล่าว สามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับหมู่บ้านได้ดียิ่งขึ้น รวมทั้งเป็นการสร้างระบบประชาธิปไตยให้กับประชาชน ตั้งแต่ขั้นตอนการเสนอโครงการที่ต้องผ่านการประชาคม และการดำเนินโครงการผ่านกลไก "คณะกรรมการหมู่บ้าน" ทำให้ประชาขนได้เรียนรู้หลักการมีส่วนร่วม การดำเนินงานและการตรวจสอบ จึงขอเน้นย้ำให้นายอำเภอได้ลงไปชี้แจงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนตามวัตถุประสงค์ดังกล่าวด้วย เพื่อให้ประชาชนได้ร่วมกันคิด ประชาชนร่วมกันทำ และประชาชนได้รับประโยชน์จากโครงการฯ  อย่างไรก็ดีในการดำเนินโครงการหมู่บ้านละ 2 แสนบาท ยังพบปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานอยู่บ้าง เช่น การนำงบประมาณไปจัดซื้อคุรุภัณฑ์ ดังนั้น ในการดำเนินโครงการหมู่บ้านละ 2.5 แสนบาท ในครั้งนี้ จึงได้กำหนดข้อห้ามมิให้นำงบประมาณไปใช้ในการจัดซื้อครุภัณฑ์ จัดอบรมดูงาน เว้นแต่การอบรมเพื่อฝึกอาชีพ จึงขอกำชับให้ทุกอำเภอได้ศึกษาและแนะนำหมู่บ้านให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ต่างๆ อย่างเคร่งครัด เพื่อให้การปฏิบัติเป็นไปด้วยความชัดเจน ตามกฎหมายระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง

สำหรับขั้นตอนการเสนอโครงการนั้นจะเป็นไปในลักษณะเดียวกันกับ โครงการหมู่บ้านละ 2 แสน โดยส่วนที่สำคัญ คือ จะต้องให้ “คณะกรรมการหมู่บ้าน” ประชุมประชาคมเพื่อคัดเลือกและจัดทำรายละเอียดโครงการ รายงานให้อำเภอทราบ เพื่อให้ “คณะกรรมการบริหารและพัฒนาอําเภอแบบบูรณาการ” ร่วมกับ หน่วยงานทหารในพื้นที่ พิจารณาอนุมัติ และส่งผลพิจารณาให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นชอบ และส่งให้สำนักจัดทำงบประมาณเขตพื้นที่พิจารณาเห็นชอบและแจ้งผลให้จังหวัดทราบต่อไป  โดยโครงการที่สามารถดำเนินการได้แบ่งเป็น 3 ด้านคือ 1. ด้านเศรษฐกิจ เช่น ขยายผลโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โครงการส่งเสริมอาชีพ และคุณภาพชีวิตเพื่อให้ประชาชนมีงานทำ 2. ด้านสังคม เช่น โครงการด้านสาธารณสุข การศึกษา ประเพณีวัฒนธรรม รวมถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และ 3. ด้านสาธารณะประโยชน์อย่างอื่น เช่น โครงการพัฒนาแหล่งน้ำเน้นใน 3 ลักษณะ คือ ซ่อม - เสริม - สร้าง โดยให้อำเภอปรึกษาหารือระหว่างหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง และประชาชนในพื้นที่ เพื่อหาแนวทางบริหารจัดการน้ำในหมู่บ้าน เช่น การขุดสระน้ำ ทำฝายเก็บกักน้ำ ถังเก็บน้ำ ซ่อมแซมฝายเก็บน้ำ และขุดเจาะบ่อบาดาล ขยายประปาหมู่บ้าน เป็นต้น โดยทุกโครงการหรือกิจกรรมจะต้องดำเนินการในพื้นที่หมู่บ้านที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณจะต้องมีความพร้อม และได้รับการอนุญาตให้ใช้พื้นที่ก่อนเพื่อการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนเท่านั้น และจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน เพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ และช่วยกระตุ้นระบบเศรษฐกิจในระดับพื้นที่ได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม

ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของมาตรการป้องกันการทุจริตกระทรวงมหาดไทย ได้กำหนดมาตรการ หลักเกณฑ์ และแนวทางการปฏิบัติทุกขั้นตอนอย่างชัดเจน เพื่อป้องกันปัญหาการทุจริตทุกขั้นตอน รวมทั้งจะมีการติดตามการดำเนินโครงการอย่างใกล้ชิด โดยใช้กลไกของกระทรวงมหาดไทยในระดับพื้นที่ทุกระดับ ทำหน้าที่กำกับ ติดตามการดำเนินงานอย่างเข้มข้น เพื่อให้การดำเนินโครงการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน.



 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 31 ต.ค. 2559 เวลา : 17:50:59

24-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 24, 2024, 5:12 pm