สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร จับมือ ADB และ GISTDA ในโครงการนวัตกรรมวิธีการจัดเก็บข้อมูลด้านสถิติการเกษตรและชนบท เผย นำร่องแล้ว 4 ประเทศ ได้แก่ ไทย ลาว ฟิลิปปินส์ เวียดนาม โดยไทย ชูพื้นที่ อ่างทอง แหล่งปลูกข้าวที่สำคัญของประเทศ นำร่องศึกษาโครงการ
นายคมสัน จำรูญพงษ์ รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการประชุม “โครงการนวัตกรรมวิธีการจัดเก็บข้อมูลด้านสถิติการเกษตรและชนบทร่วมกับธนาคารพัฒนาเอเชีย” เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม ที่ผ่านมา ณ โรงแรมริชมอนด์ จังหวัดนนทบุรี ซึ่งสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ได้ร่วมมือกับ ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank : ADB) และ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (Geo-Informatics and Space Technology Development Agency : GISTDA) ในการพัฒนารูปแบบสำหรับประเมินพื้นที่ปลูกข้าวและผลผลิตต่อไร่ โดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการรับรู้ระยะไกล หรือ Remote Sensing เพื่อสนับสนุนนโยบายทางการเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร โดยมี Mr. Tadayoshi Yahata Project Officer Asian Development Bank กล่าวเปิดการประชุม และนายสมมาตร ยิ่งยวด ผู้อำนวยการศูนย์สารสนเทศการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กล่าวตอนรับ
โครงการดังกล่าว มีการนำร่องใน 4 ประเทศ ได้แก่ ลาว ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และประเทศไทย ภายใต้โครงการ RCDTA 8369: Innovative Data Collection Methods for Agricultural and Rural Statistics โดยได้รับการสนับสนุนด้านการเงินจากกองทุนบรรเทาความยากจนของประเทศญี่ปุ่น และได้รับความช่วยเหลือเป็นที่ปรึกษาด้านเทคนิคจาก Japan Aerospace Exploration Agency หรือ JAXA
สำหรับประเทศไทย มีระยะเวลาดำเนินการ 2 ปี (พฤษภาคม 2557 – กรกฎาคม 2559) ในพื้นที่นำร่องจังหวัดอ่างทอง ซึ่งเป็นแหล่งปลูกข้าที่สำคัญของประเทศ โดย สศก. ได้ทำการทดลองประเมินพื้นที่ปลูกข้าวด้วยข้อมูลระยะไกล (Remote Sensing) และประเมินผลผลิตต่อไร่ด้วยวิธีการเก็บข้อมูล Crop Cutting และการสอบถามเกษตรกร ซึ่งนำผลที่ได้จากการจัดทำข้อมูลด้วยวิธีการดังกล่าวมาวิเคราะห์ร่วมกับโปรแกรม INAHOR เพื่อประเมินพื้นที่ปลูกข้าวและผลผลิต
ทั้งนี้ ผลการประเมินพบว่า เนื้อที่ปลูกข้าวที่ประเมินโดยข้อมูลระยะไกล (Remote Sensing) มีความแตกต่างจากค่าสถิติของพื้นที่ปลูกประมาณร้อยละ 14 ส่วนข้อมูลผลผลิตต่อไร่ที่ได้จากการจัดเก็บข้อมูล Crop Cutting Survey และการสอบถามเกษตร มีความแตกต่างจากค่าสถิติของผลผลิตต่อไร่ ประมาณร้อยละ 12 และ 34 ตามลำดับ นอกจากนี้ โปรแกรมที่ใช้ในการสำรวจภาคสนาม (MapPlus) สำหรับ IPAD สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการสำรวจภาคสนามของ สศก. ได้ ซึ่งคาดว่าการดำเนินงานโครงการดังกล่าว จะสามารถนำมาพัฒนาและประยุกต์ใช้กับการดำเนินงานของ สศก. ได้ต่อไป อย่างไรก็ตาม สศก. ADB และ GISTDA นำผลการศึกษาในครั้งนี้ ไปปรับปรุงระเบียบและวิธีการจัดเก็บข้อมูลให้มีความแม่นยำมากยิ่งขึ้น และจะนำมาพัฒนาการจัดทำข้อมูลด้านสถิติการเกษตรของประเทศต่อไป
ข่าวเด่น