เมื่อวันที่ 2 พ.ย.59 นายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย ทำหนังสือด่วนที่สุดถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ถึงแนวทางการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวนาว่า ขอให้ผู้ว่าฯ นายอำเภอ ใช้ศาสตร์และศิลป์ของการบริหารจัดการการลงทุนไปบูรณาการและอำนวยการร่วมกับส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจในพื้นที่ เพื่อดำเนินการดังนี้
1.มาตรการเร่งด่วน ให้ใช้เวทีการประชุมภาครัฐและเอกชนเพื่อช่วยเหลือชาวนา ให้จัดประชุมคณะอนุกรรมการติดตามกำกับดูแลการบริหารจัดการข้าวระดับจังหวัด หรือคณะกรรมการประสานงานขับเคลื่อนนโยบายสานพลังงานประชารัฐประจำจังหวัดโดยให้เชิญผู้แทนชาวนาในพื้นที่ ผู้แทนสมาคมโรงสี หอการค้าจังหวัด สภาอุตสาหกรรมจังหวัด และสำนักงานพาณิชย์จังหวัด รายงานสถานการณ์ผลผลิตข้าวและราคาข้าวให้ที่ประชุมทราบเพื่อหารือร่วมกันถึงมาตรการและแนวทางในการแก้ไขราคาข้าวตกต่ำ หรือการช่วยเหลือชาวนาในระดับพื้นที่
การประชุมดังกล่าวเพื่อเปิดโอกาสให้พ่อค้า โรงสี และชาวนา ได้มีเวทีพูดคุยทำความเข้าใจกัน ขอให้มอบหมายคณะอนุกรรมการดังกล่าว สอดส่อง ตรวจตรา การรับซื้อข้าวของผู้ประกอบการโรงสี และภาวะการซื้อขายข้าวในพื้นที่ไม่ให้เกษตรกรถูกเอารัดเอาเปรียบ และถ้ามีชาวนาที่ยังไม่เข้าถึงการช่วยเหลือตามมาตรการรัฐบาล ขอให้ประสานคณะทำงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ทำความเข้าใจชาวนาว่าขณะนี้ประเทศอื่นๆ ปลูกข้าวมากขึ้นทำให้ราคาตลาดโลกลดลงส่งผลให้การส่งข้าวไทยไปขายในตลาดต่างประเทศลดลงด้วย และขอให้จังหวัดแจ้งอำเภอเปิดเวทีศูนย์ดำรงธรรมอำเภอ เพื่อเป็นช่องให้ชาวนาได้ร้องเรียนหรือรับฟังความเดือดร้อนของชาวนาในพื้นที่โดยตรง และให้อำเภอรวบรวมข้อเรียกร้องเสนอต่อหน่วยงานในระดับนโยบาย ไม่ต้องให้ชาวนาเคลื่อนไหว โดยใช้มวลชนมาเดินขบวนกดดันหน่วยงานรัฐ ซึ่งเป็นการกระทำสร้างความเดือดร้อนแก่สาธารณชนและผิดกฎหมาย
2.มาตรการระยะต่อไป คือ 1.แนะนำชาวนาเกี่ยวกับการลดความชื้น โดยทำข้าวเปลือกให้แห้งก่อนนำไปขาย จะขายได้ในราคาที่สูงขึ้นว่าข้าวเปลือกที่มีความชื้นสูง 2.รณรงค์ แนะนำ และสร้างความเข้าใจกับชาวนาให้กันมาทำการเกษตรกรแบบประณีต ใช้พันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพ มากกว่าผลผลิตเร็ว แต่คุณภาพต่ำ 3.ลดต้นทุนการผลิตข้าวโดยแนะนำชาวนาให้ใช้ปุ๋ยอินทรีย์แทนปุ๋ยเคมี หรือเก็บเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพไว้ปลูกรอบต่อไป และการช่วยเหลือชาวนาขายผลผลิตโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง เช่น รณรงค์ให้ชาวนาที่มีศักยภาพขายข้าวเอง โดยอาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ สำนักงานการค้าภายในจังหวัด สำนักงานพาณิชย์จังหวัด ภาคเอกชน(ประชารัฐ) เป็นแกนกลางในการจัดสถานที่ให้ชาวนาขายข้าวให้กับผู้บริโภคโดยตรง หรือการรวมตัวของชาวนาในการขายข้าวให้ผู้บริโภคโดยตรงแต่ต้องจดทะเบียนพาณิชย์
3.ให้จังหวัดน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้เป็นวิถีการดำเนินชีวิตของชาวนา ขอให้จังหวัดรณรงค์อย่างกว้างขวางทุกวิถีทาง เพื่อให้ชาวนาหันมาดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามพระราชดำริ เช่น ทำการเกษตรทฤษฎีใหม่ การปลูกพืชสวนครัว การเลี้ยงสัตว์ เลี้ยงปลาแทนการซื้อจากพ่อค้า และส่งเสริมให้ชาวนารู้จักทำบัญชีครัวเรือนเกี่ยวกับรายรับ รายจ่ายของครอบครัวตัวเองด้วย
ข่าวเด่น