‘ฟิลิปปินส์’ จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรี RCEP สมัยพิเศษ (Intersessional RCEP Ministerial Meeting) ในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2559 ณ เมืองเซบู เพื่อเร่งเจรจาหาข้อสรุปประเด็นการเปิดตลาดการค้าสินค้า การค้าบริการ และการลงทุน ให้ได้โดยเร็วที่สุด
นายวินิจฉัย แจ่มแจ้ง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรี RCEP สมัยพิเศษ เปิดเผยว่า การเจรจาครั้งนี้ มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการเจรจา RCEP ว่าจะสามารถสรุปผลได้โดยเร็วที่สุด ตามที่ผู้นำอาเซียน และ 6 ประเทศคู่เจรจา ได้ตั้งเป้าหมายไว้หรือไม่ โดยครั้งนี้มีเป้าหมายที่จะหาข้อสรุปประเด็นเปิดตลาดการค้าสินค้า การค้าบริการและการลงทุน ที่ต้องได้รับการตัดสินใจในระดับนโยบาย รวมถึงการมอบแนวทางการเจรจาให้กับเจ้าหน้าที่ เพื่อผลักดันให้การเจรจามีความคืบหน้าและสามารถสรุปผลได้ตามเป้าหมาย
นายวินิจฉัย กล่าวว่า จากการที่ประเทศสมาชิก RCEP มีระดับการพัฒนา ข้อจำกัดและความต้องการที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะประเทศที่ยังไม่มี FTA ระหว่างกันมาก่อน เช่น ญี่ปุ่น-จีน ญี่ปุ่น-นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น-เกาหลี อินเดีย-จีน อินเดีย-นิวซีแลนด์ และ อินเดีย-ออสเตรเลีย เป็นต้น ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ อีกทั้งการเจรจา RCEP เป็นการเจรจา FTA ในระดับภูมิภาครวม 16 ประเทศ ที่มีความซับซ้อนและต้องคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในหลายมิติมากกว่าการเจรา FTA แบบทวิภาคีหลายเท่า ทำให้สมาชิกบางประเทศยังคงมีท่าทีระมัดระวังอย่างมากในการเปิดตลาด และมีเป้าหมายของระดับการเปิดตลาดที่แตกต่างกัน แต่สมาชิกทุกประเทศยังมุ่งมั่นที่จะสรุปผลให้ได้โดยเร็ว
“หากการประชุมครั้งนี้ สามารถหาข้อสรุปการหารือเพิ่มเติมจากผลการเจรจาของสมาชิก RCEP ที่ผ่านมาได้ จะทำให้การเจรจาดำเนินการต่อไปได้อย่างมีนัยสำคัญต่อภูมิภาค RCEP โดยมีอาเซียนเป็นศูนย์กลางขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในภูมิภาค RCEP ซึ่งจะกลายเป็นเขตการค้าเสรีที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ครอบคลุมประชากรกว่า 3.5 พันล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 48 ของประชากรโลก มีมูลค่าการค้ารวมกันสูงถึง 9.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 29 ของการค้าโลก และครอบคลุมตลาดส่งออกของไทยกว่าร้อยละ 55 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด” นายวินิจฉัย กล่าว
ในปี 2558 ไทยมีมูลค่าการค้ารวมกับประเทศสมาชิก RCEP จำนวน 2.44 แสนล้านเหรียญสหรัฐ โดยเป็นมูลค่าการส่งออกไปยังประเทศสมาชิก RCEP จำนวน 1.19 แสนล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 55.73 ของการส่งออกทั้งหมดของไทย ขณะเดียวกัน มีมูลค่าการนำเข้าจากประเทศสมาชิก RCEP จำนวน 1.25 แสนล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 61.79 ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมดของไทย สินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ ยานยนต์และชิ้นส่วน เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ยางและผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น สินค้านำเข้าที่สำคัญ เช่น เครื่องจักรกล และส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เครื่องคอมพิวเตอร์ เป็นต้น
การเจรจา RCEP ถือเป็นความท้าทายของประเทศสมาชิกทั้ง 16 ประเทศ ได้แก่ ประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ จีน เกาหลี ญี่ปุ่น อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ เนื่องจากมีการหารือเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการค้าหลายเรื่องที่มีความเชื่อมโยงกัน รวมถึงประเทศสมาชิกมีระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจและมาตรฐานความเข้มข้นของกฎระเบียบทางการค้าภายในประเทศที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ดี ไทยมองว่า RCEP เป็นตลาดเดียวที่จะเป็นเครื่องมือสำคัญให้กับผู้ประกอบการไทย ในการขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนได้กว้างขึ้น และยังเป็นความตกลงฯที่พยายามผลักดันให้มีการลดอุปสรรคทางการค้าระหว่างกันให้มากที่สุด
ข่าวเด่น