ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
เปิดสวนสาธารณะจัดลอยกระทง 14 พ.ย.นี้ 30 แห่ง/ขอความร่วมมือไม่ปล่อยโคมลอย จุดพลุ ประทัด


 


(3 พ.ย. 59) เวลา 10.00 น. พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมหัวหน้าหน่วยงานของกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 11/2559 โดยมีรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คณะที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หัวหน้าหน่วยงานในสังกัดกรุงเทพมหานคร และผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกทม. (เสาชิงช้า)

นางสุวรรณา จุ่งรุ่งเรือง ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม แจ้งว่า กรุงเทพมหานครได้เปิดสวนสาธารณะให้เข้าทำกิจกรรมสำหรับลอยกระทงในวันที่ 14 พ.ย. 59 ได้ทั้งหมด 30 แห่ง ได้แก่ สวนลุมพินี เขตปทุมวัน สวนจตุจักร สวนวชิรเบญจทัศ เขตจตุจักร สวนพระนคร สวน 60 พรรษา สมเด็จพระบรมราชินีนาถ เขตลาดกระบัง สวนสราญรมย์ สวนรมณีนาถ สวนสันติชัยปราการ เขตพระนคร สวนธนบุรีนมย์ เขตทุ่งครุ สวนเสรีไทย สวนนวมินทร์ภิรมย์ เขตบึงกุ่ม สวนหนองจอก เขตหนองจอก อุทยานเบญจสิริ สวนเบญจกิติ เขตคลองเตย สวนน้ำบึงกระเทียม สวนวารีภิรมย์ สวนราษฎร์ภิรมย์ เขตมีนบุรี สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา (ฝั่งพระนคร) เขตบางคอแหลม สวนสันติภาพ เขตราชเทวี สวนกีฬารามอินทรา เขตบางเขน สวนรมณีย์ทุ่งสีกัน เขตดอนเมือง สวน 50 พรรษา มหาจักรีสิรินธร สวนวนธรรม เขตประเวศ สวนทวีวนารมย์ เขตทวีวัฒนา สวนหลวงพระราม 8 เขตบางพลัด สวนสาธารณะบึงน้ำลาดพร้าว 71 เขตลาดพร้าว สวนสิรินธราพฤกษาพรรณ สวนเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เขตบางกอกน้อย สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เขตสาทร และสวนพระยาภิรมย์ เขตคลองสามวา ตั้งแต่เวลา 05.00–24.00 น. 

ส่วนสวนสาธารณะที่ไม่เปิดให้เข้าลอยกระทง 2 แห่ง คือ สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ และสวนหลวง ร.9  นอกจากนี้ทางสำนักสิ่งแวดล้อมได้เตรียมความพร้อมในการจัดเก็บกระทงในแม่น้ำเจ้าพระยาแล้ว โดยจะมีเจ้าหน้าที่ประจำจุดคอยเก็บกระทงบนผิวน้ำตั้งแต่บริเวณใต้สะพานพระราม 7 ไปจะถึงบริเวณวัดโยธินประดิษฐ์ เขตบางนา เป็นระยะทางประมาณ 34 กิโลเมตร และจะร่วมมือกับสำนักระบายน้ำ สำนักงานเขต ในการดูแลจับเก็บขยะและกระทงในคูคลองด้วย อีกทั้งยังขอความร่วมมือกับประชาชนรณรงค์ให้ใช้วัสดุของกระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ สามารถย่อยสลายง่าย หรือจะใช้กระทงร่วมก็จะสามารถช่วยลดจำนวนกระทงได้เช่นกัน ไม่ควรใช้กระทงที่ทำจากวัสดุโฟมหรือพลากติก เพราะจะย่อยสลายยากและเกิดการสะสมเป็นขยะได้ ซึ่งในปี 58 ที่ผ่านมากทม. ได้รณรงค์ให้ใช้กระทงร่วม ก็สามารถทำให้จำนวนกระทงลดลงได้ถึงร้อยละ 16 จึงทำให้การสะสมของขยะในแม่น้ำและคลองน้อยลงด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครยังกำชับเพิ่มเติมว่า ขอความร่วมมือจากประชาชนไม่ปล่อยโคมลอย หรือจุดพลุและประทัด เพราะที่ผ่านมาการปล่อยโคมลอยนั้นเป็นอันตรายและรบกวนต่อการเดินทางบนอากาศยานเป็นอย่างมาก และถ้าโคมไฟตกลงมาอาจจะทำให้เกิดเหตุไฟไหม้ได้


 

LastUpdate 03/11/2559 17:04:26 โดย : Admin

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 3:00 am