ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
กรมชลฯ เผยใช้ระบบชลประทานแบ่งรับน้ำช่วยลดน้ำผ่านเมืองเพชรบุรี


 


ปริมาณน้ำที่ไหลจากลำห้วยแม่ประจันต์ไปสบทบกับแม่น้ำเพชรบุรี ทำให้บริเวณด้านเหนือเขื่อนเพชร ยังคงมีปริมาณน้ำมาก ใช้ระบบชลประทานแบ่งรับน้ำ ช่วยลดปริมาณน้ำไหลผ่านเข้าเมืองเพชรบุรี

นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรีว่า ปัจจุบันปริมาณน้ำจากลำห้วยแม่ประจันต์ ยังคงมีปริมาณมากและไหลลงสู่แม่น้ำเพชรบุรี ส่งผลให้ปริมาณน้ำด้านเหนือเขื่อนเพชรยังคงเพิ่มสูงขึ้น จำเป็นต้องเพิ่มการระบายน้ำผ่านเขื่อนเพชรมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนถึงขณะนี้มีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อน 213 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที กรมชลประทาน จะแบ่งรับน้ำเข้าระบบชลประทาน และใช้พื้นที่ว่างเหนือเขื่อนเพชร เพื่อรักษาปริมาณน้ำที่ต้องระบายผ่านเขื่อนไม่ให้เพิ่มมากขึ้น ลักษณะเช่นนี้จะส่งผลให้   ระดับน้ำในแม่น้ำเพชรบุรี บริเวณอ.ท่ายาง และอ.บ้านลาด ระดับน้ำยังต่ำกว่าตลิ่ง ส่วนบริเวณอ.เมืองเพชรบุรี มีน้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมที่ลุ่มต่ำบริเวณต.บ้านกุ่ม และบริเวณหลังค่ายทหารมณฑลทหารบกที่ 15 สำหรับในพื้นที่อ.บ้านแหลม ยังคงมีน้ำล้นตลิ่งบริเวณที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำบริเวณต.บ้านแหลม ต.บางครก ต.ท่าแร้ง ต.ท่าแร้งออก และต.บางขุนไทร

ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้แจ้งเตือนไปยังจังหวัดเพชรบุรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง ให้เฝ้าระวังและเพิ่มการป้องกันตลิ่งในบริเวณที่ลุ่มต่ำริมลำห้วยแม่ประจันต์ ได้แก่พื้นที่ อ.หนองหญ้าปล้อง อ.บ้านลาด        อ.แก่งกระจาน และอ.ท่ายาง รวมไปถึงบริเวณที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำเพชรบุรีด้วย ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำน้ำท่วมถึง ยกสิ่งของและทรัพย์สินไว้บนที่สูง พร้อมทั้งขอให้ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด

สำหรับการช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม นั้น กรมชลประทาน ได้ดำเนินการติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาด  8 นิ้ว และ 10 นิ้ว จำนวน 15 เครื่อง จากทั้งหมดที่ได้จัดเตรียมไว้ 30 เครื่อง ปัจจุบันยังคงเดินเครื่องสูบระบายน้ำออกจากพื้นที่น้ำท่วมขังอย่างต่อเนื่อง พร้อมกันนี้ ยังได้ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำเพิ่มเติมอีก 6 เครื่อง จากที่เคยติดตั้งไว้แล้ว  2 เครื่อง รวมทั้งสิ้น 8 เครื่อง ในบริเวณแม่น้ำเพชรบุรี เพื่อเร่งระบายน้ำออกสู่ทะเลให้เร็วที่สุดต่อไป

 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 04 พ.ย. 2559 เวลา : 07:10:35

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 3:03 am