กระทรวงเกษตรฯ เปิดจุดจำหน่ายข้าวจากชาวนาผ่านหน่วยงานในสังกัด หวังช่วยระบายข้าวและผู้บริโภคได้ซื้อสินค้าดีมีคุณภาพ พร้อมกระตุ้นราคาข้าวสูงขึ้น
พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า การดึงปริมาณข้าวเปลือกเพื่อเข้าสู่กระบวนการแปรรูปเป็นข้าวสาร และเร่งกระจายข้าวสารออกสู่ตลาดในภาวะวิกฤติขณะนี้นับเป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยเหลือเกษตรกรสมาชิกทำนา ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ เห็นว่าระบบสหกรณ์จะเป็นทางออกที่ดีที่สุดที่จะช่วยเหลือเกษตรกร ทั้งในด้านการเปิดจุดรับซื้อข้าวเปลือกของเกษตรกร เพื่อนำมาเพิ่มมูลค่าด้วยการแปรรูปเป็นข้าวสาร รวมถึงการกระจายข้าวสารบรรจุถุงออกสู่ตลาด เพื่อให้ถึงมือผู้บริโภคได้ทันท่วงที โดยศักยภาพของสหกรณ์การเกษตรที่มีโรงสีข้าวจำนวน 133 แห่ง กำลังการผลิตข้าวสารรวมวันละ 5,464 ตัน และมีสหกรณ์ที่มีโรงสีพร้อมอุปกรณ์แพ๊คข้าวสารบรรจุถุงจำนวน 47 แห่ง จากจังหวัดอุบลราชธานี สุรินทร์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด นครราชสีมา บุรีรัมย์ และศรีสะเกษ โดยสามารถแปรรูปผลิตข้าวสารบรรจุถุงพร้อมจำหน่ายได้ประมาณวันละ 2,170 ตัน ซึ่งหากมีการขยายช่องทางการจำหน่ายข้าวสารได้เพิ่มมากขึ้น ขบวนการสหกรณ์ก็สามารถเพิ่มกำลังการผลิตข้าวสารได้เต็มที่ เพื่อรองรับกับประมาณความต้องการของตลาดและผู้บริโภค
ด้านนายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้กรมส่งเสริมสหกรณ์ประสานกับสหกรณ์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือบางส่วน ซึ่งเป็นช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลผลิต เพื่อให้เกษตรกรได้นำผลผลิตข้าวเปลือกมาขายให้กับจุดรับซื้อของสหกรณ์ และเข้าร่วมมือกันภายใต้โครงการข้าวสารสหกรณ์ช่วยชาวนา เพื่อกระจายผลผลิตข้าวสารจากเกษตรกรสู่ผู้บริโภค โดยแผนการเปิดจุดจำหน่ายในส่วนของกระทรวงเกษตรฯ แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ จำหน่ายที่หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ และบูรณาการหน่วยงานภายในนอกกระทรวงเกษตรฯ ซึ่งเบื้องต้นในวันที่ 4 พ.ย.59 เปิดจำหน่าย 3 จุด คือ ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ถนนราชดำเนินนอกจำนวน 2 ตัน กรมปศุสัตว์จำนวน 9 ตัน กรมชลประทานสามเสน จำนวน 3 ตัน วันที่ 5 – 24 พ.ย.59 ที่องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) และวันที่ 7 พ.ย.59 จะเป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ในมหาวิทยาลัยเกษตรกลางบางเขน ได้แก่ กรมวิชาการเกษตร กรมประมง กรมหม่อนไหม กรมพัฒนาที่ดิน ซึ่งแต่ละจุดมีการจำหน่ายข้าวสารประมาณ 10 ตัน
ส่วนหน่วยงานภายนอกนั้น กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ประสานกับ 10 หน่วยงาน โดยกำหนดจัดกิจกรรมปล่อยคาราวานรถกระบะและรถบรรทุก 6 ล้อ บรรทุกข้าวสารสหกรณ์จากสหกรณ์ต่าง ๆ ออกจากสำนักพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีการสหกรณ์ เขตดุสิต กรุงเทพฯ ในวันที่ 8 พ.ย.59 เพื่อกระจายข้าวสารไปวางขายตามจุดจำหน่ายทั้ง 10 แห่ง ได้แก่ ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงการคลัง กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (ถนนวิภาวดีรังสิต) สถานทีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 สถานีโทรทัศน์ช่อง 9 อสมท. การไฟฟ้าแห่งประเทศไทย บางกรวย บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (สำนักงานใหญ่ พระราม3) และธนาคารกสิกรไทย สำนักงานใหญ่ ถนนพหลโยธิน โดยปริมาณข้าวสารที่จะจำหน่ายจุดละประมาณ 3 ตันเป็นอย่างต่ำ ซึ่งหากหน่วยงานใดมีความสนใจนำข้าวสารสหกรณ์ไปจำหน่ายสามารถติดต่อสอบถามได้ที่กรมส่งเสริมสหกรณ์
"จุดจำหน่ายข้าวสารสหกรณ์ที่กระจายอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร จะเน้นจำหน่ายข้าวหอมมะลิคุณภาพดี 100% จากสหกรณ์ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ข้าวสารที่จำหน่ายจะเน้นข้าวหอมมะลิขนาด 5 กก.เป็นหลัก และจะมีขนาด 2 กก.และ 1 กก. ด้วยส่วนหนึ่ง สำหรับการกำหนดราคาจำหน่ายเป็นมาตรฐานราคาเดียวกัน เบื้องต้นกำหนดราคาขายข้าว หอมมะลิ 5 กก.ราคาถุงละ 165 บาท และจะมีข้าวเพื่อสุขภาพมาร่วมจำหน่ายบางส่วน เช่น ข้าวกล้อง ข้าวไรซ์เบอรี่ ข้าวอินทรีย์ ทั้งนี้ คาดว่าการแร่งระบายข้าวสารสหกรณ์ออกสู่ตลาด จะส่งผลทำให้สหกรณ์การเกษตรสามารถรับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรในพื้นที่ในช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยวในเดือนพฤศจิกายนนี้ได้มากยิ่งขึ้น และสามารถนำเข้าสู่กระบวนการแปรรูปเป็นข้าวสารได้ทันที เมื่อตลาดมีความต้องการและขยายช่องทางการจำหน่ายข้าวสารถึงผู้บริโภคได้หลากหลาย ซึ่งจะส่งผลทำให้สามารถดึงราคารับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรเพิ่มสูงขึ้น" นายวิณะโรจน์ กล่าว
ข่าวเด่น