วันนี้ (7 พฤศจิกายน 2559) นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวภายหลังการประชุมศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค (EOC) ว่า จากกรณีที่มีนิสิตของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ในจังหวัดนครปฐม ป่วยด้วยโรคติดเชื้อไวรัสซิกา นั้น เป็นเรื่องที่สามารถเกิดขึ้นได้ เพราะปัจจุบันประเทศไทย โดยกระทรวงสาธารณสุข มีการดำเนินมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสซิกาอย่างเข้มข้นต่อเนื่อง โดยร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ทุกภาคส่วน รวมถึงมีระบบการตรวจที่แม่นยำและส่งตัวอย่างตรวจมากขึ้น ทำให้การตรวจจับโรคติดเชื้อไวรัสซิกาครอบคลุมทุกพื้นที่และสามารถพบผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย
ขณะนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่จังหวัดนครปฐม ทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทหาร สาธารณสุข มหาวิทยาลัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสซิกาอย่างเข้มข้น รวมถึงการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนร่วมกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย เพื่อตัดวงจรของยุงลายพาหะนำโรคดังกล่าว
นอกจากนี้ ขอให้ประชาชนเข้าใจ ไม่ต้องกลัวหรือรังเกียจผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสซิกา เพราะปัจจุบันโรคติดเชื้อไวรัสซิกายังไม่มีรายงานการติดต่อจากการสัมผัส และไม่สามารถติดต่อทางลมหายใจ ซึ่งผู้ป่วยและผู้ใกล้ชิดสามารถดำเนินกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ ซึ่งผู้ป่วยโรคนี้ควรป้องกันไม่ให้ถูกยุงกัด เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ หากมีเพศสัมพันธ์ต้องใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง ที่สำคัญขอให้ประชาชนเชื่อมั่นในระบบเฝ้าระวังของประเทศไทย และติดตามข่าวสารจากกระทรวงสาธารณสุขอย่างต่อเนื่อง
นายแพทย์เจษฎา กล่าวต่อไปว่า สถานการณ์ของโรคติดเชื้อไวรัสซิกาในประเทศไทย ตั้งแต่ 1 ม.ค. - 4 พ.ย. 2559 พบผู้ป่วยแล้ว 653 ราย ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา (29 ต.ค. – 4 พ.ย. 2559) พบผู้ป่วยรายใหม่ 17 ราย ซึ่งจำนวนผู้ป่วยลดลงจากสัปดาห์ก่อนนี้ แต่ละสัปดาห์มีความใกล้เคียงกันและสามารถควบคุมโรคได้ โดยพบผู้ป่วยในบางอำเภอ บางจังหวัดเท่านั้น สำหรับการเฝ้าระวังและติดตามในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ในพื้นที่ที่พบผู้ป่วย ขณะนี้มีหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อ 65 ราย คลอดแล้ว 20 ราย ทารกทุกรายมีอาการปกติ ส่วนการเฝ้าระวังและสอบสวนทารกศีรษะเล็ก นั้น ยืนยันพบทารกมีภาวะศีรษะเล็กจากการติดเชื้อไวรัสซิกาในครรภ์มารดา 2 ราย
สำหรับคำแนะนำในการใช้ผลิตภัณฑ์ไล่แมลงของหญิงตั้งครรภ์ นั้น ขอให้ใช้ผลิตภัณฑ์ไล่แมลงที่มีการขึ้นทะเบียนรับรองไว้อย่างชัดเจน เนื่องจากได้รับการประเมินด้านประสิทธิภาพแล้ว โดยผลิตภัณฑ์ไล่แมลงชนิดสารธรรมชาติที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน ไม่แนะนำให้ใช้เนื่องจากความไม่ชัดเจนของข้อมูลด้านประสิทธิภาพ ซึ่งหลักการใช้ผลิตภัณฑ์ไล่แมลง โดยทั่วไปผลิตภัณฑ์แต่ละชนิดมีระยะเวลาการออกฤทธิ์ไม่เท่ากัน จึงควรปฏิบัติตามคำแนะนำบนฉลากอย่างเคร่งครัด ไม่ควรใช้ถี่เกินไป รวมถึงไม่ควรใช้บริเวณผิวหนังส่วนที่มีเสื้อผ้าปกคลุมไว้แล้ว กรณีใช้ร่วมกับผลิตภัณฑ์กันแดด ควรทาผลิตภัณฑ์กันแดดก่อนใช้ผลิตภัณฑ์ไล่แมลง
อย่างไรก็ตาม จากที่กระทรวงสาธารณสุข มีการดำเนินมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสซิกาอย่างเข้มข้นต่อเนื่อง รวมถึงการรณรงค์ให้ประชาชนปฎิบัติตามมาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” ทำให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับโรคที่มาจากยุงลายเพิ่มขึ้น และตระหนักถึงความสำคัญในการร่วมกันกำจัดเพาะพันธุ์ยุงลายที่เป็นสาเหตุของโรคดังกล่าว ส่วนอาการของผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสซิกา ส่วนใหญ่อาการของโรคไม่รุนแรง และส่วนใหญ่ป่วยแล้วหายได้เอง อาการที่พบบ่อย ได้แก่ มีไข้ ออกผื่น ตาแดง ปวดข้อ จะมีปัญหาเฉพาะกับหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งมีหลักฐานทางระบาดวิทยาที่บ่งชี้ว่าอาจสัมพันธ์กับอาการศีรษะเล็กในทารกแรกเกิด อาการจะทุเลาลงภายในเวลา 2-7 วัน หากอาการไม่ดีขึ้นให้พบแพทย์โดยเร็ว ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422
ข่าวเด่น