กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานสถานการณ์อุทกภัยใน 2 จังหวัด ได้แก่ เพชรบุรี และกระบี่ สถานการณ์ทั้ง 2 จังหวัด เริ่มคลี่คลาย ระดับน้ำลดลงแล้ว พร้อมเตือนช่วง 8 – 9 พ.ย. 59 ประเทศไทยตอนบนจะมีอากาศหนาวเย็น อุณหภูมิลดลง 3 – 5 องศาเซลเซียส จึงได้ประสาน 20 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้วางแผนช่วยเหลือผู้ประสบภัยหนาว โดยสำรวจความต้องการเครื่องนุ่งห่มกันหนาวและจัดทำบัญชีผู้ประสบภัยหนาว ส่วนภาคใต้ให้เตรียมรับมือภาวะฝนตกหนักถึงหนักมากและคลื่นลมแรง โดยจัดเจ้าหน้าที่ชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมือ อุปกรณ์และเครื่องจักรกลให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างทันท่วงที
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ฝนที่ตกหนักต่อเนื่องในหลายพื้นที่ ส่งผลให้เกิดน้ำไหลหลาก น้ำเอ่อล้นตลิ่ง และดินสไลด์ใน 2 จังหวัด รวม 5 อำเภอ 10 ตำบล 21 หมู่บ้าน ได้แก่ เพชรบุรี น้ำจากแม่น้ำเพชรบุรีล้นตลิ่งในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองเพชรบุรี อำเภอบ้านแหลม และอำเภอท่ายาง รวม 8 ตำบล 19 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 427 ครัวเรือน
กระบี่ น้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองกระบี่ และอำเภออ่าวลึก รวม 2 ตำบล 2 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 19 ครัวเรือน ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้วทั้ง 2 จังหวัด ระดับน้ำลดลง ซึ่งกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ร่วมกับหน่วยทหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยโดยด่วนแล้ว พร้อมประสานการระบายน้ำกับหน่วยชลประทานในพื้นที่อย่างใกล้ชิด ติดตั้งเครื่องสูบน้ำและเครื่องผลักดันน้ำระบายน้ำออกจากพื้นที่ชุมชนเขตเศรษฐกิจไปยังแหล่งรองรับน้ำและออกสู่ทะเล ตลอดจนให้ซ่อมแซมสาธารณูปโภค และสิ่งสาธารณประโยชน์ให้ใช้งานได้โดยเร็ว โดยจัดเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่สำรวจความเสียหายและจัดทำบัญชีผู้ประสบภัยและทรัพย์สินที่เสียหาย เพื่อให้การช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ
นายฉัตรชัย กล่าวต่อไปว่า จากการติดตามสภาพอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า ในช่วงวันที่ 8 - 9 พฤศจิกายน 2559 บริเวณความกดอากาศสูงกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีนแผ่ปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนองกับพายุลมแรง จากนั้นอากาศจะเย็นลง และอุณหภูมิลดลง 3 – 5 องศาเซลเซียส โดยเริ่มในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จากนั้นภาคเหนือ ภาคกลาง และ ภาคตะวันออกจะได้รับผลกระทบในระยะต่อไป ปภ.จึงได้ประสาน 20 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด สกลนคร นครพนม มุกดาหาร ยโสธร อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี เลย หนองบัวลำภู หนองคาย อุดรธานี และบึงกาฬ วางแผนให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยหนาว โดยจัดเจ้าหน้าที่สำรวจความต้องการเครื่องกันหนาวและจัดทำบัญชีผู้ประสบภัยหนาว
พร้อมวางแผนจัดสรรเครื่องกันหนาวอย่างทั่วถึง โดยเน้นแจกจ่ายในกลุ่มเปราะบาง รวมถึงประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนหมั่นดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรง สวมใส่เสื้อผ้าหนาๆ เพื่อสร้างความอบอุ่นให้กับร่างกาย หลีกเลี่ยงการก่อกองไฟในบริเวณที่มีลมแรง เก็บกวาดหญ้าแห้งใบไม้แห้งมิให้กองสุม เพราะหากเกิดเพลิงไหม้ จะทำให้ยากต่อการควบคุม ส่วนมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมภาคใต้และอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้น ทำให้เกิดฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง คลื่นลมบริเวณอ่าวไทยมีกำลังแรง คลื่นสูง 2 – 3 เมตร
ปภ.จึงได้ประสาน 9 จังหวัด ได้แก่ เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี และนราธิวาส จัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศ เฝ้าระวังสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิด พร้อมจัดเจ้าหน้าที่ชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมือ อุปกรณ์และเครื่องจักรกลให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย สำหรับประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยให้ติดตามพยากรณ์อากาศและประกาศเตือนภัย พร้อมปฏิบัติตามคำเตือนอย่างเคร่งครัด
ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยสามารถติดต่อได้ที่สายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป
ข่าวเด่น