ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ครม.เห็นชอบให้เสนอ'อุทยานธรณีสตูล'เป็นสมาชิกอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก


 


ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อ 8 พ.ย.) มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ ดังนี้ 
1. เห็นชอบให้เสนออุทยานธรณีสตูลเป็นสมาชิกอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก  (UNESCO  Globat Geoparks)  
2.มอบหมายให้คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก)  กระทรวงศึกษาธิการ ดำเนินการเสนออุทยานธรณีสูตลเป็นสมาชิกธรณีโลกของยูเนสโกต่อสำนักเลขาธิการยูเนสโก  ณ กรุงปารีส  ประเทศฝรั่งเศส 
สาระสำคัญของเรื่อง 
ทส. รายงานว่า 
1. อุทยานธรณีโลกของยูเนสโก  (UNESCO  Globat Geoparks)  เป็นโครงการด้านการอนุรักษ์มรดกทางธรณีวิทยา โบราณคดี  นิเวศวิทยา  และวัฒนธรรม  ขององค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติหรือยูเนสโก  (United Nations  Educational, Scientific and  Cultural Organization : UNESCO)  อุทยานธรณีโลกเป็นขอบเขตพื้นที่ที่ประกอบด้วยแหล่งที่มีคุณค่าด้านธรณีวิทยา โบราณคดี นิเวศวิทยา และวัฒนธรรม มีการบริหารจัดการแบบองค์รวมระหว่างการอนุรักษ์ การให้ความรู้ การศึกษาวิจัย  และการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน  ส่งเสริมและเปิดโอกาสให้ชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการ เชื่อมโยงความสำคัญของมรดกทางธรณีวิทยาผ่านการท่องเที่ยวเชิงธรณีวิทยา  ปัจจุบันทั่วโลกมีอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก  จำนวนทั้งสิ้น 120 แห่ง  ใน 33 ประเทศ โดยภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีอุทยานธรณีธรณีโลกของยูเนสโกแล้ว จำนวน 4 แห่ง ใน 3 ประเทศ ประกอบด้วย ประเทศสหพันธรัฐมาเลเซีย  1 แห่ง สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม 1 แห่ง และสาธารณรัฐอินโดนีเซีย 2 แห่ง

2. ทส. โดยกรมทรัพยากรธรณี ซึ่งมีภารกิจในด้านการสงวน การอนุรักษ์ การฟื้นฟู และการบริหารจัดการด้านธรณีวิทยาและทรัพยากรธรณีของประเทศจึงได้ดำเนินงานด้านอุทยานธรณีตามแนวทางการจัดตั้งอุทยานธรณีของยูเนสโกเพื่อต้องการอนุรักษ์แหล่งที่มีคุณค่าด้านธรณีวิทยาอย่างยั่งยืน  ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ ทส. ในประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 1 สงวน อนุรักษ์ ฟื้นฟู และจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างบูรณาการที่ตอบสนองต่อการพัฒนาและใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนและเป็นธรรม  โดยการส่งเสริมให้เกิดการอนุรักษ์ผ่านการท่องเที่ยวเชิงธรณีวิทยาซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่ของการอนุรักษ์และการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน  พร้อมทั้งได้ส่งเสริมและสนับสนุนให้จังหวัดสตูลจัดตั้งอุทยานธรณีโดยความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน ได้แก่  มหาวิทยาลัยราชภัฎนครราชสีมา  มหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลา  วิทยาลัยชุมชนสตูล  และองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ 

3. จังหวัดสตูลได้ดำเนินการตามแนวทางของกรมทรัพยากรธรณีในการจัดตั้งอุทยานธรณีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 เป็นต้นมา โดยกำหนดพื้นที่อุทยานธรณี ตั้งหน่วยงานบริหารจัดการ จัดทำแผนบริหารจัดการ และดำเนินการตามแผนฯ โดยได้ประกาศจัดตั้งอุทยานธรณีสตูล (Satun Geopark)  เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2557

4. ประโยชน์ของการเป็นสมาชิกของอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก  :  ทำให้ประเทศไทยเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติเพิ่มมากขึ้นทั้งในด้านคุณค่าของแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ และด้านการท่องเที่ยวซึ่งจะดึงดูดนักท่องเที่ยวนำรายได้สู่ชุมชนท้องถิ่นและประเทศ  ประชากรในพื้นที่มีงานทำ มีรายได้และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ประชากรในพื้นที่เกิดจิตสำนึกในการอนุรักษ์และหวงแหน  ส่งผลให้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีคุณค่าได้รับการปกป้องคุ้มครองอย่างยั่งยืน  เกิดเครือข่ายความร่วมมือในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทางธรณีวิทยาอย่างยั่งยืน  นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งศึกษา วิจัย ของนักวิชาการทั้งในและต่างประเทศอีกด้วย


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 08 พ.ย. 2559 เวลา : 17:54:15

23-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 23, 2024, 8:17 pm