พาณิชย์ตอบรับ Thailand 4.0 ศึกษาการใช้ความต้องการของตลาด (Demand Driven) กำหนดรูปแบบการผลิตสินค้าเกษตรของไทย ผลักดันเกษตรกรให้เป็น Smart Farmer
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ดำเนินโครงการศึกษาข้อมูลความต้องการของตลาด (Demand Driven) สินค้าเกษตรที่มีศักยภาพของไทย เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์และต้นแบบการพัฒนาการค้าสินค้าเกษตรเป้าหมาย ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากการที่ภาคการเกษตรของไทยต้องเผชิญปัญหามาอย่างยาวนาน อาทิ ปัญหาต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรสูง พื้นที่ไม่เหมาะสม ผลผลิตไม่ได้คุณภาพ สินค้าล้นตลาด ราคาตกต่ำ เกษตรกรขายได้ไม่คุ้มทุน รายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ เกิดเป็นหนี้ครัวเรือนสะสมเป็นวงจร โดยแนวทางแก้ไขปัญหาส่วนใหญ่เป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เช่น ความพยายามระบายสินค้าที่คั่งค้าง การชดเชยราคา/รายได้ให้เกษตรกร หรือหาตลาดรับซื้อแบบ G to G (ระหว่างรัฐบาลกับรัฐบาล) เป็นต้น ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาจากอุปทาน (Supply) ที่ออกสู่ตลาดแล้วไม่สามารถจำหน่ายได้ในราคา ที่เกษตรกรต้องการ ดังนั้น จึงได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ริเริ่มดำเนินโครงการศึกษาระบบข้อมูลความต้องการของตลาดสินค้าเกษตรของไทย (Demand Driven) ร่วมกับที่ปรึกษาจากหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญด้านการค้าสินค้าเกษตร เพื่อนำข้อมูลความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ ในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ส่งต่อถึงมือเกษตรกรและผู้ประกอบการตลอดห่วงโซ่การผลิต สำหรับใช้ประกอบการวางแผนการผลิต การแปรรูป และจำหน่าย ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคในยุคปัจจุบันมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นในแง่คุณภาพสินค้า มาตรฐาน ความปลอดภัย และรูปแบบบรรจุภัณฑ์ ซึ่งจะเป็นการแก้ไขปัญหาการค้าสินค้าเกษตรของไทย โดยใช้หลักอุปสงค์ (Demand) ของตลาดเป็นปัจจัยหลักในการกำหนดแผนและการบริหารจัดการผลผลิต โดยมีเป้าหมายสูงสุดเพื่อให้ผลผลิตของเกษตรกรมีตลาดรองรับที่ชัดเจนและต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นช่วยลดความเสี่ยงของภาวะการขาดทุน อันเนื่องมาจากภัยธรรมชาติ ผลผลิตล้นตลาด หรือไม่ได้คุณภาพและมาตรฐานตามที่ตลาดกำหนด
สำหรับโครงการดังกล่าวมุ่งศึกษาสินค้าเกษตร 2 รูปแบบ คือ สินค้าเกษตรในรูปแบบสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodities) เช่น ยางพารา มันสำปะหลัง ผักผลไม้ และสินค้าเกษตรนวัตกรรม หรือสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีในการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า เช่น ผลิตภัณฑ์จากน้ำมันรำข้าว สินค้าเกษตรชีวภาพ เป็นต้น ทั้งนี้ สินค้าที่จะนำมาศึกษาจะพิจารณาจากแนวโน้มความต้องการของตลาดและศักยภาพในการผลิตของเกษตรกรและผู้ประกอบการไทยเป็นสำคัญเพื่อกำหนดต้นแบบและยุทธศาสตร์ในการเสริมสร้างความรู้ด้านการค้าและการตลาดที่เท่าทันต่อสถานการณ์ ให้แก่เกษตรกรกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้เกษตรกรไทยก้าวสู่การเป็น Smart Farmer ตามนโยบาย Thailand 4.0 และพัฒนาภาคการเกษตรของไทยให้เข้มแข็งและยั่งยืนต่อไป
ข่าวเด่น