กยท. และชาวสวนยาง ร่วมแบ่งปันน้ำใจ ช่วยเหลือชาวนาไทยเปิดจุดปันน้ำใจ 2 แห่งในกรุงเทพฯ เตรียมกระจายสู่ภูมิภาค พร้อมทั้ง ส่งเสริมการปลูกข้าว เพื่อสร้างรายได้เสริมให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง
กยท. และชาวสวนยาง ร่วมแบ่งปันน้ำใจ ช่วยเหลือชาวนาไทย ตามนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รับซื้อข้าวหอมมะลิคุณภาพดีจากสหกรณ์การเกษตรพิมาย จ.นครราชสีมา ประเดิมล๊อตแรก9 ตัน (1,800 ถุงๆ ละ 5 กิโลกรัม) เพื่อจำหน่ายให้แก่ข้าราชการ พนักงาน และประชาชนในพื้นที่บริเวณโดยรอบถนนบางขุนนนท์ กรุงเทพฯ ราคาถุงละ 165 บาท พร้อมทั้ง กยท.ได้ส่งเสริมการปลูกข้าว เพื่อเป็นอาชีพเสริมให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง
ดร.ธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย เผยว่า ข้าวเป็นพืชเศรษฐกิจหลักที่สำคัญอีกชนิดหนึ่งของประเทศ ปลูกไว้เพื่อการบริโภค เป็นพืชอาหารประจำชาติ และมีความผูกพันกับวิถีชีวิตของคนไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ข้าวไทยเป็นสินค้าเชิงพาณิชย์ที่กระจายไปทั่วทุกมุมโลก และมีหลายๆ ประเทศปลูกข้าวเพื่อบริโภคและเชิงพาณิชย์ได้ ฉะนั้น ย่อมส่งผลกระทบต่อเรื่องปริมาณและความต้องการเช่นเดียวกับยางพารา
ขณะนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตระหนักและเห็นความสำคัญในการบริหารผลผลิตข้าวสารเพื่อเร่งจำหน่ายออกสู่ตลาด จึงให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ร่วมกันนำข้าวมาจำหน่ายสู่ผู้บริโภคในราคาที่ยุติธรรม ทาง กยท. และชาวสวนยาง เล็งเห็นว่า ทุกวันนี้ เราบริโภคข้าวเป็นอาหารหลัก การส่งเสริมและสนับสนุนเพื่อกระตุ้นให้เกิดการบริโภคข้าวไทยเพิ่มมากขึ้น จะเป็นการช่วยระบายผลผลิตข้าว และช่วยเหลือชาวนาไทย เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวเช่นกัน โดย กยท. ประเดิมรับซื้อข้าวหอมมะลิคุณภาพดีล๊อตแรกจากสหกรณ์การเกษตรพิมาย จ.นครราชสีมา จำนวน 9 ตัน (1,800 ถุงๆ ละ 5 กิโลกรัม) เพื่อจำหน่ายให้แก่ข้าราชการ พนักงาน และประชาชนในพื้นที่บริเวณโดยรอบถนนบางขุนนนท์ กรุงเทพฯ ราคาถุงละ 165 บาท ตั้งแต่วันที่ 9 พ.ย.59 เป็นต้นไป ณ จุดปันน้ำใจ 2 แห่ง ได้แก่ การยางแห่งประเทศไทย สำนักงานใหญ่ และฝ่ายวิจัยและพัฒนาเศรษฐกิจยาง ถนนบางขุนนนท์ กรุงเทพฯ นอกจากนี้ จะขยายการจำหน่ายข้าวไปตาม กยท.ทั้ง 45 แห่งตามที่ตั้งของการยางแห่งประเทศไทยทั่วประเทศต่อไป คาดว่ารวมประมาณ 50 ตัน ซึ่งเมื่อสินค้าหมด จะทยอยสั่งซื้อจากสหกรณ์การเกษตรต่างๆ เป็นระยะ
ดร.ธีธัช กล่าวเพิ่มเติมว่า กยท.ได้มีการส่งเสริมให้เกษตรกรชาวสวนยาง ทำอาชีพเสริมในช่วงยางต้นเล็ก ซึ่งยังไม่สามารถเปิดกรีด ทั้งนี้ ในบางพื้นที่ มีเกษตรกรชาวสวนยางที่ปลูกข้าวเป็นพืชร่วมยาง อย่างเช่น พื้นที่ภาคใต้ อ.ย่านตาขาว จ.ตรัง ซึ่ง กยท. สาขาย่านตาขาว ได้พัฒนาและส่งเสริมเกษตรกรให้ทำเกษตรแบบผสมผสาน เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรในช่วงที่ได้รับผลกระทบจากภาวะราคาสินค้าตกต่ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในหมู่บ้านชาวสวนยางพัฒนา เฉลิมพระเกียรติพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ริเริ่มนำข้าวมาปลูกในสวนยาง จนกลายเป็นกิจกรรมสร้างความสามัคคีและกลมเกลียวระหว่างเกษตรกรและผู้เกี่ยวข้องในชุมชนด้วย
“ขอเชิญคนไทย ร่วมซื้อข้าวหอมมะลิคุณภาพดี จากเกษตรกรไทยได้ที่ การยางแห่งประเทศไทย บางขุนนนท์ กรุงเทพฯ มาร่วมแบ่งปันน้ำใจ ช่วยเหลือชาวนาไทยกับ กยท. และชาวสวนยาง ตั้งแต่วันที่ 9 พ.ย.59 เป็นต้นไป โดยคิกออฟจุดปันน้ำใจ 2 แห่ง ได้แก่ การยางแห่งประเทศไทย สำนักงานใหญ่ และฝ่ายวิจัยและพัฒนาเศรษฐกิจยาง ถนนบางขุนนนท์ กรุงเทพฯ พร้อมจะขยายสู่ภูมิภาคตามที่ตั้งของการยางแห่งประเทศไทยทั่วประเทศต่อไป คาดว่ารวมประมาณ 50 ตัน”ดร.ธีธัช กล่าวทิ้งท้าย
นายภิรม หนูรอด ผู้อำนวยการการยางแห่งประเทศไทย สาขาย่านตาขาว กล่าวว่า การยางแห่งประเทศไทย สาขาย่านตาขาว ได้ดำเนินโครงการหมู่บ้านชาวสวนยางพัฒนาฯ เพื่อช่วยเหลือและส่งเสริมชาวสวนยางในหมู่บ้านมาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่ง ปี 2557 ได้แนะนำให้เกษตรกรชาวสวนยางในพื้นที่หันมาปลูกพืชอื่นเสริมร่วมกับการปลูกยาง โดย กยท.ได้จัดหาพันธุ์ข้าวไร่ดอกข่ามาแจกให้กับเกษตรกรเพื่อทดลองปลูก จนถึงปัจจุบันการปลูกพืชในพื้นที่ดังกล่าวให้ผลผลิตดีจึงมีการขยายพื้นที่ปลูกข้าวมากขึ้น โดยเกษตรกรสามารถนำผลผลิตที่ได้ไปบริโภคในครัวเรือนและจำหน่ายในพื้นที่เพื่อสร้างอาชีพและเพิ่มรายได้นอกเหนือจากอาชีพการทำสวนยาง และที่สำคัญ การปลูกข้าว ยังสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนให้มีความสามัคคี และรักษาประเพณีอันดีงามของไทยด้วย โดยทุกปีจะมีการจัดกิจกรรม"รวบข้าวไร่" ให้กับเกษตรกรในหมู่บ้านชาวสวนยางพัฒนา เฉลิมพระเกียรติพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารและในปีนี้ ได้จัดกิจกรรม ณ พื้นที่สวนยางของนายสำราญ ขวัญนิมิตร ต.โพรงจระเข้ อ.ย่านตาขาว จ.ตรังโดยรูปแบบของการจัดกิจกรรม จะมีพิธีการรวบข้าวไร่ และร่วมกันตำข้าวเม่า เพื่อสร้างความสามัคคีและกลมเกลียวระหว่างเกษตรกรและผู้เกี่ยวข้องในชุมชนในวันที่ 9 พ.ย.59 ด้วย
ด้าน นายสำราญ ขวัญนิมิต เกษตรกรชาวสวนยางที่ปลูกข้าวเป็นอาชีพเสริม จ.ตรังกล่าวว่าในขณะที่ต้นยางยังไม่สามารถให้ผลผลิตได้เนื่องจากยังไม่ถึงอายุกรีด การปลูกข้าวระหว่างร่องยางในพื้นที่ 7 ไร่ ผลผลิตที่ได้นอกเหนือจากการบริโภคในครัวเรือนแล้ว ยังสามารถนำไปจำหน่ายช่วยสร้างรายได้ให้กับครัวเรือนได้ดีในระดับหนึ่ง เป็นการดำเนินชีวิตตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงที่ดี
ข่าวเด่น