สมาคมการค้ายูโรเปียนฯ ขานรับร่างปฏิรูปโครงสร้างภาษีสรรพสามิต ขอสนช. ยึดตามหลักปฏิบัติสากล
นายรอล์ฟ-ดีเตอร์ ดาเนียล นายกสมาคมการค้ายูโรเปียนเพื่อธุรกิจและการพาณิชย์นำคณะเข้าประชุมเพื่อหารือกับกรมสรรพสามิตซึ่งมีนางสาววิไล ตันตินันท์ธนา ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางสรรพสามิตเป็นประธานในการประชุมโดยได้มีวาระการพูดคุยถึงความคืบหน้าของร่างพ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิตที่เข้าสู่วาระการพิจารณาครั้งที่หนึ่งของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ไปแล้ว รวมถึงได้มีการแจ้งถึงความเห็นจากภาคเอกชนในประเด็นท้าทายที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายปฏิรูปฉบับนี้ ทางด้านสมาคมการค้ายูโรเปียนฯ แจ้งว่าสมาคมฯ ยินดีที่ได้มีโอกาสเข้าหารือในประเด็นข้อกังวลหลักเกี่ยวกับร่างกฎหมายปฏิรูปโครงสร้างภาษีสรรพสามิตเพื่อให้ประเทศไทยบรรลุวัตถุประสงค์ในการรักษาความน่าดึงดูดด้านการลงทุนในกลุ่มประเทศอาเซียน ทั้งนี้ในที่ประชุมได้มีการแลกเปลี่ยนความเห็นและหารือด้านความร่วมมือร่วมกับกลุ่มธุรกิจต่างชาติซึ่งจะเป็นปัจจัยหลักในการเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนที่เข้ามาในประเทศไทย
“สมาคมฯ ตระหนักดีถึงความตั้งใจของรัฐบาลไทยในการแก้ไขร่างพรบ.ภาษีสรรพสามิตเพื่อให้เกิดความโปร่งใส ความมีประสิทธิภาพและการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตที่เป็นธรรมในทุกๆ กลุ่มสินค้าที่เข้าข่ายต้องเสียภาษีสรรพสามิต เรารู้สึกยินดีที่ได้เห็นความคืบหน้านี้จากกรมสรรพสามิตในการพยายามปฏิรูประบบการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะข้อขัดแย้งในเรื่องฐานภาษีที่ยังคงเป็นปัญหาในปัจจุบัน” นายดาเนียลกล่าว
ในระหว่างการประชุม สมาคมการค้ายูโรเปียนฯ ยังได้หยิบยกประเด็นข้อกังวลจากภาคเอกชนเกี่ยวกับข้อกำหนดบางประการที่ปรากฏในร่างกฎหมายภาษีสรรพสามิต
“ตามหลักการแล้ว ภาษีสรรพสามิตเป็นภาษีที่จัดเก็บจากการบริโภคสินค้าหรือใช้บริการ โดยจะจัดเก็บจากราคาต้นทุน หรือไม่ก็ราคาขายปลีกแนะนำ ในส่วนของราคาขายปลีกแนะนำนั้นตามนิยามแล้วเป็นสิ่งสะท้อนการบริโภคได้อย่างใกล้เคียงมากที่สุดเนื่องจากเป็นราคาที่กำหนดขายให้กับผู้บริโภค ดังนั้น หากรัฐบาลต้องการที่จะเปลี่ยนฐานการจัดเก็บภาษีมาเป็นการเก็บบนราคาขายปลีกแนะนำ สมาคมฯ จึงมองว่าประเด็นเรื่องการนำราคาต้นทุนการผลิตหรือค่าใช้จ่ายอื่นๆ เข้ามาคิดคำนวณให้เป็นราคาขายปลีกจึงเป็นสิ่งที่ไม่มีความจำเป็น เนื่องจากจะยิ่งทำให้ระบบการจัดเก็บภาษีมีความซับซ้อนยิ่งขึ้นและเป็นการเพิ่มภาระต้นทุนการบริหารอย่างมหาศาล อีกทั้งยังไม่เป็นไปตามาตรฐานหรือหลักปฏิบัติสากลด้วย” นายดาเนียลอธิบายเพิ่มเติม
ประธานสมาคมการค้ายูโรเปียนฯ กล่าวสรุปว่า “เราหวังว่ารัฐบาลไทยจะยึดหลักการปฏิรูปตามหลักคิดในเรื่องการคงรายได้คงเดิมเพื่อจะไม่เป็นการเพิ่มภาระทางภาษีให้กับภาคธุรกิจ เรายังขอวิงวอนให้กรมสรรพสามิตเล็งเห็นถึงความสำคัญของหลักการทำธุรกิจที่ง่ายและเป็นมิตรกับนักลงทุนมากขึ้น ประเทศไทยเป็นแหล่งลงทุนที่น่าดึงดูดสำหรับนักลงทุนและธุรกิจต่างชาติอยู่แล้ว ร่างกฎหมายฉบับนี้กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของสนช. ภาคธุรกิจต่างชาติจึงหวังที่จะเห็นกฎหมายใหม่ที่จะเป็นประโยชน์กับประเทศไทยในระยะยาวและเป็นการปฏิรูปโครงสร้างภาษีอย่างแท้จริงที่จะช่วยเสริมความมั่นใจให้กับนักลงทุนและสร้างระบบที่เป็นธรรมให้กับทุกฝ่าย”
อนึ่ง EABC ก่อตั้งขึ้นเป็นกลุ่มกิจการค้าร่วมกับองค์กรธุรกิจและหอการค้าต่างๆ ในประเทศไทยและยุโรปรวม 16 แห่ง โดยมีสมาชิกร่วมกันกว่า 2,000 บริษัทในประเทศไทย ด้วยการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากสหภาพยุโรป (อียู) สมาคมการค้ายูโรเปียนทำหน้าที่เป็นตัวแทนของกลุ่มธุรกิจยูโรเปียนและทำงานร่วมกันเพื่อพัฒนาและยกระดับสภาพแวดล้อมทางการค้าและการลงทุนในประเทศไทย รวมถึงเสริมความร่วมมือที่แข็งแกร่งระหว่างยุโรปและประเทศไทย
ข่าวเด่น