บอร์ด สปสช.อนุมัติยุทธศาสตร์หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 5 ปี พร้อมส่งกฤษฎีกาหารือคุณสมบัติ 6 ผู้สมัครสรรหาเลขาธิการ สปสช.
บอร์ด สปสช.อนุมัติ “แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 4 ปี (พ.ศ. 2560-2564) รุกพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตั้งเป้า “ประชาชนเข้าถึงบริการ การเงินการคลังยั่งยืน มีธรรมาภิบาล” พร้อมรับทราบความคืบหน้าสรรหาเลขาธิการ สปสช.คนใหม่ และเห็นชอบส่งกฤษฎีกาตีความคุณสมบัติต้องห้าม 6 ผู้สมัครรับการสรรหา
ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ - เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2559 ศ.นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) กล่าวภายหลังการประชุมบอร์ด สปสช.ว่า ในวันนี้บอร์ด สปสช.ได้เห็นชอบและอนุมัติหลักการยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2560-2564) ตามที่คณะอนุกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์นำเสนอ ภายหลังจากที่บอร์ด สปสช.ได้เคยเห็นชอบในหลักการร่างยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2559 แต่ได้มีความเห็นให้ปรับปรุงเนื้อหาบางส่วนส่วนเพื่อให้เกิดความชัดเจนเพิ่มขึ้นและสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยมอบให้คณะอนุกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์ดำเนินการปรับแก้ไข พร้อมเชิญผู้แทนคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุขและผู้ให้บริการมาร่วมให้ความเห็น
อย่างไรก็ตามจากการประชุมในวันนี้ ยังมีบอร์ด สปสช.ขอให้ความเห็นเพิ่มเติม ดังนั้นก่อน สปสช.จะประกาศยุทธศาสตร์ฯ เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติและใช้เป็นแนวทางในการขับเคลื่อนการดำเนินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จะมีการปรับปรุงเล็กน้อยตามข้อเสนอแนะที่ได้รับครั้งนี้
ศ.นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า นอกจากนี้ที่ประชุมบอร์ด สปสช.ยังรับทราบความคืบหน้าการสรรหาเลขาธิการ สปสช. เพิ่มเติม ภายหลังจากที่คณะกรรมการสรรหาเลขาธิการ สปสช. ซึ่งมี รศ.ต่อตระกูล ยมนาค เป็นประธาน และได้ดำเนินการตามขั้นตอนการสรรหา ซึ่งจากตรวจสอบคุณสมบัตผู้สมัครรับการสรรหาทั้งสิ้น 12 คน พบว่ามีผู้สมัคร 6 คน ที่จำเป็นต้องหารือคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อให้ได้ข้อยุติว่าเป็นผู้ที่มีลักษณะต้องหาตามมาตรา 32 (12) ตาม พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 หรือไม่ ดังนั้นบอร์ด สปสช.จึงเห็นชอบให้ส่งคุณสมบัติของผู้สมัครรับการสรรหาทั้ง 6 คน เพื่อขอความเห็นต่อคณะกรรมการกฤษฎีกา
สำหรับผู้สมัครรับการสรรหาที่จำเป็นต้องหารือคุณสมบัติต้องห้ามต่อคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้แก่ นพ.วิทยา ตันสุวรรณนนท์ รองเลขาธิการ สปสช. นพ.อิทธพล สูงแข็ง สาธารณสุขนิเทศ ปฏิบัติหน้าที่ ผอ.ศูนย์สันติวิธีสาธารณสุข นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา รองเลขาธิการ รักษาการเลขาธิการ สปสช. นพ.ชูศักดิ์ โอกาสเจริญ อดีตผู้บริหารระดับต้น มหาวิทยาลัยมหิดล นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ และ นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ผอ.รพ.รามาธิบดี
ด้าน นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา รองเลขาธิการ รักษาการเลขาธิการ สปสช. กล่าวเพิ่มเติมในส่วนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 4 ว่า มีจุดเน้นเพื่อมุ่งให้ “ทุกคนที่อาศัยอยู่บนแผ่นดินไทย ได้รับความคุ้มครองหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าด้วยความมั่นใจ” โดยมีพันธกิจเพื่อพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าโดยใช้หลักฐานเชิงประจักษณ์และการมีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรจากทุกภาคส่วน และเป็นตัวแทนประชาชนในการจัดหาบริการที่มีคุณภาพให้ประชาชนเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมตามความจำเป็น ซึ่งมี 3 เป้าหมายที่สำคัญ คือ “ประชาชนเข้าถึงบริการ การเงินการคลังยั่งยืน มีธรรมาภิบาล”
ทั้งนี้เพื่อให้ยุทธศาสตรพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินี้บรรลุเป้าหมาย ยังได้กำหนด 10 ตัวชี้วัดที่เป็นความท้าทายการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 5 ปีจากนี้ อาทิ ร้อยละประสิทธิผลของความครอบคลุมหลักประกันสุขภาพเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าหนึ่งในสาม ภายในปี 2564, ร้อยละของครัวเรือนที่เกิดวิกฤติทางการเงินจากการจ่ายค่ารักษาพยาบาล ไม่เกินร้อยละ 2.3 ในปี 2564, ระดับความสำเร็จของความมุ่งมั่นและความรับผิดชอบร่วมกันของบอร์ด สปสช.และบอร์ดควบคุมคุณภาพและมาตรฐานฯ เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามภายในเวลา 5 ปี, ร้อยละความสำเร็จของการเป็นองค์กรประสิทธิภาพสูงไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ภายในปี 2564 และร้อยละการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงาน ตามมาตรฐานการประเมินของรัฐ ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 90 ภายในปี 2564 เป็นต้น
นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า ส่วนการดำเนินงานจะใช้ 5 กลยุทธ ทั้งสร้างความมั่นใจการเข้าถึงบริการของกลุ่มเปราะบางและกลุ่มที่ยังเข้าไม่ถึงบริการ สร้างความมั่นใจในคุณภาพมาตรฐานและความเพียงพอของบริการ สร้างความมั่นใจในประสิทธิภาพการบริหารกองทุน สร้างความมั่นใจในการมีส่วรร่วมของทุกภาคส่วน และสร้างความมั่นใจในธรรมาภิบาล ซึ่งแต่ละกลยุทธ์จะมีแผนการดำเนินงานรองรับเพื่อให้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในช่วง 5 ปีจากนี้
“การจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 4 นับเป็นการขับเคลื่อนระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเพื่อต่อยอดแผนยุทธศาสตร์ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าก่อนหน้านี้ เน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน พร้อมตอบสนองต่อนโยบายรัฐบาลเพื่อสร้างหลักประกันสุขภาพให้กับคนไทย ช่วยให้เข้าถึงบริการสุขภาพได้ตามความจำเป็น โดยไม่ต้องกังวลเรื่องภาคะค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล” รักษาการเลขาธิการ สปสช กล่าว
ข่าวเด่น