นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ตัวแทนพรรครีพับลิกันได้รับชัยชนะเป็นประธานาธิบดีคนที่ 45 ของสหรัฐฯ ในด้านนโยบายเศรษฐกิจ นาย ทรัมป์ ต้องการที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ ให้เติบโตแข็งแกร่งขึ้น ส่วนหนึ่งจะผ่านการใช้จ่ายของรัฐที่จะเพิ่มขึ้นด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ รวมถึงการลดภาษี ทั้งภาษีนิติบุคคลจาก 34-35% ในปัจจุบันเหลือเพียง 15% เพื่อดึงดูดให้บริษัทต่างๆ หันกลับมาสร้างฐานการผลิตและจ้างงานในสหรัฐฯ และลดภาษีบุคคลธรรมดาลงเพื่อให้มีกำลังซื้อมากขึ้น แต่การกระตุ้นด้วยการขาดดุลการคลังนี้ย่อมทำให้หนี้สาธารณะของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นด้วย
นอกจากนี้ นาย ทรัมป์ ยังต้องการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้า อาจจะส่งผลกระทบต่อทั้งเศรษฐกิจและผู้ส่งออก ในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ (Emerging markets ) และส่งผลให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง ประโยชน์ที่เคยได้รับจากกระแสโลกาภิวัฒน์ อาจจะไม่มีในอนาคต (Globalization) และอาจจะได้รับผลกระทบในเชิงลบกลับไปที่สหรัฐฯ อีกทั้งการกล่าวหาจีนว่าจงใจทำให้ค่าเงินอ่อน ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอาจแย่ลง นอกจากนี้ นาย ทรัมป์ ก็ยังไม่ได้เห็นด้วยกับการดำเนินนโยบายดอกเบี้ยต่ำของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) และต้องการที่จะเปลี่ยนประธานเฟดที่จะหมดวาระลงในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2018 ทั้งหมดนี้อาจจะทำให้ทิศทางการลงทุนน่าจะมีความผันผวนมากขึ้นในอนาคต
ด้านการลงทุนในระยะสั้น น่าจะส่งผลดีต่อตราสารหนี้และทองคำ แต่สร้างแรงกดดันไปยังตลาดหุ้นต่างๆ อย่างไรก็ตาม การปรับตัวในครั้งนี้อาจเปิดโอกาสเข้าลงทุนในสินทรัพย์ที่ไม่ได้รับผลกระทบจากแนวนโยบายของทรัมป์
ผลกระทบต่อการลงทุนประเภทต่างๆ สำหรับตลาดตราสารหนี้ อัตราผลตอบแทนปรับตัวลดลงในระยะสั้น จากความกังวลที่เกิดขึ้น ( Risk-off Sentiment) แต่อัตราผลตอบแทนน่าจะปรับเพิ่มขึ้นในระยะย่าว จากการดำเนินนโยบายขาดดุลทางการคลังที่เพิ่มขึ้นของสหรัฐฯ ส่วนตราสารหนี้ไทย อุปทานพันธบัตรรัฐบาลมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาส 1 ทำให้ Yield อาจปรับตัวเพิ่มขึ้นได้เช่นกัน
ด้านตลาดหุ้นในประเทศ สามารถทยอยสะสมหากปรับตัวลดลงตามแนวรับสำคัญๆ ปัจจัยพื้นฐานของไทยยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ โครงการลงทุนภาครัฐยังดำเนินต่อเนื่อง การฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศยังน่าจะมีให้เห็นต่อเนื่อง ตราสารทุนต่างประเทศ ด้านนโยบายกีดกันทางการค้าส่งผลลบต่อผู้ส่งออกสำคัญๆ เช่น จีน, เกาหลีใต้ และ ไต้หวัน แต่หากตลาดหุ้นจีนปรับตัวลงมาก็น่าทยอยสะสม เพราะยังถือว่าค่อนข้างถูก และคาดว่ามี Downside จำกัดจากแรงซื้อในประเทศ
ส่วนความกังวลต่อแนวโน้มของ Emerging makets อาจทำให้เกิดกระแสเงินทุนไหลออก ส่งผลลบต่อประเทศที่เคยได้รับประโยชน์จากเงินทุนไหลเข้าในช่วงที่ผ่านมา เช่น อินเดีย และอินโดนีเซีย เป็นต้น ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ได้รับประโยชน์ในช่วงสั้นจากนโยบายลดภาษี แต่การขึ้นดอกเบี้ยของเฟดจะเป็นปัจจัยกดดันสำคัญ ตลาดหุ้นยุโรปอาจถูกกระทบไม่มาก และอาจได้ประโยชน์เพราะนายทรัมป์ต้องการเจรจาทางการค้ากับยุโรป (TTIP) ด้านสินทรัพย์ทางเลือก ทองคำน่าจะได้รับประโยชน์โดยตรงจาก Risk-off sentiment น้ำมัน ยังคงมองว่าแกว่งตัวในกรอบ $40-50 ภาพเศรษฐกิจโลกที่แย่ลงอาจทำให้ความต้องการน้ำมันลดลง แต่ประเทศผู้ผลิตน้ำมันน่าจะพยายามทำให้ราคาน้ำมันไม่ได้ร่วงลงไปมาก
ในโอกาสนี้ นักลงทุนอาจจะพิจารณา การลงทุนในกองทุนเปิดเคแทม โกลด์ ฟันด์ (KT-Gold ) มีนโยบายลงทุนในกองทุน SPDR ® Gold Trust ซึ่งเป็นกองทุนรวมหลัก โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าสินทรัพย์สุทธิของกองทุน กองทุนจะลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเพื่อป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนโดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ของมูลค่าเงินลงทุนในต่างประเทศ สำหรับผลการดำเนินงานที่ผ่านมา ณ วันที่ 4 พฤศจิกายน 2559 ผลตอบแทนย้อนหลัง 9 เดือน อยู่ที่ 11.13 % 1 ปี อยู่ที่ 13.50 % และ YTD (นับตั้งแต่ต้น2ม.ค.-4 พ.ย.59) อยู่ที่ 17.90% ซึ่งตอบแทนของกองทุนชนะเกณฑ์มาตรฐานมาตรฐาน AIMC ย้อนหลัง 9 เดือน อยู่ที่ 10.94 % 1ปี อยู่ที่ 13.29% และ YTD อยู่ที่ 17.71 % แต่อย่างไรก็ตาม การลงทุนอาจจะมีความเสี่ยงทางด้านการเปลี่ยนแปลงของราคาทองคำ และความผันผวนของราคาทองคำ ผู้ลงทุนที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ ธนาคารกรุงไทยทุกสาขา หรือ บลจ.กรุงไทย โทร 0-2686-6100 กด 9
ข่าวเด่น