ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยถึงการรับประกันภัยผ่านช่องทางการจำหน่าย ในช่วง 7 เดือน (มกราคม-กรกฎาคม 2559) ว่ามีเบี้ยประกันภัยรับรวมทั้งสิ้น 437,430 ล้านบาท ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.26 โดยแบ่งเป็นเบี้ยจากธุรกิจประกันวินาศภัย 121,019 ล้านบาท ขยายตัวลดลงร้อยละ 0.21 และเบี้ยจากธุรกิจประกันชีวิต 316,411 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 4.66 ซึ่งช่องทางการขายประกันชีวิตที่ได้รับความนิยมสูงสุด คือ การขายผ่าน “ตัวแทน” โดยมีเบี้ยรับรวมทั้งสิ้น 153,248 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 48.43 ของเบี้ยประกันชีวิตรับรวมทุกช่องทาง ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 2.83 รองลงมาได้แก่การขายผ่าน “ธนาคาร” (Bancassurance) มีเบี้ยประกันชีวิตทั้งสิ้น 142,272 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 44.96 ขยายตัวร้อยละ 6.35 ตามมาด้วยการขายผ่าน “นายหน้า” มีเบี้ยประกันชีวิตทั้งสิ้น 8,454 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.67 ขยายตัวอย่างโดดเด่นที่ร้อยละ 59.47 โดยจำแนกเป็นเบี้ยประกันชีวิตรับ “ปีแรก” ขายผ่านช่องทางต่างๆ รวมทั้งสิ้น 66,404 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 5.35 โดยช่องทางขายผ่าน “ธนาคาร” มีเบี้ยประกันชีวิตรับปีแรกสูงสุด 33,393 ล้านบาท ถือครองสัดส่วน ร้อยละ 50.29 ของเบี้ยประกันชีวิตรับปีแรกรวมทุกช่องทาง หดตัวร้อยละ 10.64 ในขณะที่ช่องทางขายผ่าน “ตัวแทน” มีเบี้ยประกันชีวิตรับ 27,012 ล้านบาท ถือครองสัดส่วนร้อยละ 40.68 ของเบี้ยประกันชีวิตรับปีแรกรวมทุกช่องทาง หดตัวร้อยละ 0.88
ในส่วนของเบี้ยประกันชีวิตรับ “ปีต่อไป” ขายผ่านช่องทางต่าง ๆ รวมทั้งสิ้น 220,527 ล้านบาท ขยายตัว ร้อยละ 7.75 โดยช่องทางขายผ่าน“ตัวแทน” มีเบี้ยประกันชีวิตรับปีต่อไปสูงสุด 121,369 ล้านบาท ถือครองสัดส่วนร้อยละ 55.04 ของเบี้ยประกันชีวิตรับปีต่อไปรวมทุกช่องทาง ขยายตัวร้อยละ 4.75 ในส่วนช่องทางขายผ่าน “ธนาคาร” มีเบี้ยประกันชีวิตรับปีต่อไป จำนวน 86,387 ล้านบาท ถือครองสัดส่วนร้อยละ 39.17 ของเบี้ยประกันภัยรับรวมทุกช่องทาง ขยายตัวร้อยละ 11.57 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
สำหรับเบี้ยประกันชีวิตรับ “จ่ายครั้งเดียว” ขายผ่านช่องทางต่างๆ มีจำนวนทั้งสิ้น 29,480 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 7.20 โดยช่องทางขายผ่าน“ธนาคาร” มีเบี้ยประกันชีวิตรับจ่ายครั้งเดียวสูงสุด 22,492 ล้านบาท ถือครองส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 76.29 ของเบี้ยประกันชีวิตรับจ่ายครั้งเดียวรวมทุกช่องทาง ขยายตัวร้อยละ 18.46 ในขณะที่ช่องทางขายผ่าน“ตัวแทน” มีเบี้ยประกันชีวิตจ่ายครั้งเดียวจำนวน 4,867 ล้านบาท ถือครองส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 16.51 ของเบี้ยประกันชีวิตรับจ่ายครั้งเดียวรวมทุกช่องทาง หดตัวร้อยละ 17.76
ในขณะที่ช่องทางการขายประกันวินาศภัยที่ได้รับความนิยมสูงสุด คือ การขายผ่าน “นายหน้า” โดยมีจำนวนเบี้ยรับรวมทั้งสิ้น 67,543 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 55.81 ของเบี้ยประกันวินาศภัยรับรวม ทุกช่องทาง ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 2.51 รองลงมาได้แก่การขายผ่าน “ตัวแทน” มีเบี้ยประกันวินาศภัยทั้งสิ้น 19,601 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 16.20 ขยายตัวร้อยละ 8.12 ตามมาด้วยการขายผ่าน “ธนาคาร” (Bancassurance) มีเบี้ยประกันวินาศภัยทั้งสิ้น 15,795 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 13.05 หดตัวร้อยละ 6.91
ทั้งนี้ หากจำแนกตามผลิตภัณฑ์ผ่านช่องทางต่างๆ พบว่ามีเบี้ยประกันอัคคีภัยขายผ่านช่องทางต่าง ๆ รวมทั้งสิ้น 6,261 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 4.66 โดยการขายประกันอัคคีภัยผ่านช่องทาง “ธนาคาร” มีเบี้ยประกันภัยรับสูงสุด 2,837 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 45.31 ของเบี้ยประกันภัยรับรวมทุกช่องทาง ขยายตัวร้อยละ 0.09 ในขณะที่เบี้ยประกันอัคคีภัยที่ขายผ่าน “นายหน้า” มีเบี้ยประกันภัยรับ 2,007 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 32.06 ของเบี้ยประกันภัยรับรวมทุกช่องทาง หดตัวร้อยละ 1.74
ส่วนเบี้ยประกันภัยทางทะเลและขนส่งขายผ่านช่องทางต่าง ๆ รวมทั้งสิ้น 3,024 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 3.36 โดยช่องทางขายผ่าน “นายหน้า” มีเบี้ยประกันภัยรับ 2,159 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 71.39 ของ เบี้ยประกันภัยรับรวมทุกช่องทาง หดตัวร้อยละ 0.80 รองลงมาเป็นช่องทาง“ตัวแทน” มีเบี้ยประกันภัยรับ 344 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 11.39 ของเบี้ยประกันภัยรับรวมทุกช่องทาง หดตัวร้อยละ 2.38
ในส่วนของเบี้ยประกันภัยรถขายผ่านช่องทางต่าง ๆ รวมทั้งสิ้น 70,535 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 0.06 โดยช่องทางขายประกันภัยรถผ่าน “นายหน้า” มีเบี้ยประกันภัยรับ 43,379 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 61.50 ของเบี้ยประกันภัยรับรวมทุกช่องทาง ขยายตัวร้อยละ 0.46 และช่องทางขายประกันภัยรถผ่าน“ตัวแทน” มีเบี้ยประกันภัยรับ 15,965 ล้านบาทคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 22.63 ของเบี้ยประกันภัยรับรวมทุกช่องทาง ขยายตัว ร้อยละ 8.83
สำหรับเบี้ยประกันภัยเบ็ดเตล็ดขายผ่านช่องทางต่าง ๆ รวมทั้งสิ้น 41,199 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 0.49 โดยช่องทางขายประกันภัยเบ็ดเตล็ดผ่าน “นายหน้า” มีเบี้ยประกันภัยรับ 19,998 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 48.54 ของเบี้ยประกันภัยรับรวมทุกช่องทาง ขยายตัวร้อยละ 8.13 และช่องทางขายประกันภัยเบ็ดเตล็ดผ่าน “ธนาคาร” มีเบี้ยประกันภัยรับ 7,301 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 17.72 ของเบี้ยประกันภัยรับรวมทุกช่องทาง หดตัวร้อยละ 8.44 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
เลขาธิการ คปภ. กล่าวเพิ่มเติมว่าสภาพสังคมปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ตั้งแต่รูปแบบโครงสร้างของสังคมไทย รูปแบบการใช้ชีวิตของผู้คน รวมทั้งปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ทั้งเรื่องของภาวะเศรษฐกิจ การพัฒนาของเทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการสื่อสาร ส่งผลให้สภาพแวดล้อมตลาด และการแข่งขันมีการเปลี่ยนแปลงไป จากยุคก่อนๆ ค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็น Financial Technology : FinTech ตลอดจนทิศทางยุทธศาสตร์ของภาครัฐที่มีความมุ่งมั่นที่จะปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจไทยเข้าสู่ยุค “Thailand 4.0” ซึ่งถือเป็นการก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มตัว เศรษฐกิจจะขับเคลื่อนด้วยองค์ความรู้และนวัตกรรม ดังนั้น จึงถือเป็นเรื่องท้าทายสำหรับบริษัทประกันภัย
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนกลางประกันภัย ทั้งตัวแทน/นายหน้า และธนาคาร ซึ่งถือได้ว่าเป็นช่องทางการจำหน่ายที่ได้รับความไว้วางใจจากผู้บริโภคสูงสุด จำเป็นจะต้องมีการพัฒนาองค์ความรู้ ให้ก้าวหน้าอยู่เสมอ ตลอดจนต้องให้ความสำคัญกับบริการหลังการขาย และหลักธรรมาภิบาล เพื่อสร้างมาตรฐานการทำงานให้มีความทันสมัย สอดคล้องกับสภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะถือเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่วิชาชีพคนกลางประกันภัย ทั้งนี้ ก่อนตัดสินใจซื้อกรมธรรม์ประกันภัยภัย ประชาชนควรศึกษาเงื่อนไขความคุ้มครอง รายละเอียดและข้อยกเว้นให้เข้าใจเสียก่อน อีกทั้งควรประเมินความสามารถในการชำระเบี้ยประกันภัยของตนเองเพื่อให้เหมาะสมและตรงกับความต้องการมากที่สุด
ข่าวเด่น