กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะ 5 วิธี ลดปริมาณขยะในแหล่งน้ำ หลังคืนวันลอยกระทง เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดี
นายแพทย์ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ในทุกๆ ปี เมื่อผ่านคืนวันลอยกระทงสิ่งที่ตามมาคือ ซากกระทงจำนวนมากที่ลอยอยู่ในแม่น้ำลำคลองหลายแห่ง จากสถิติของศูนย์ข้อมูลกรุงเทพมหานคร พบว่า ปริมาณกระทงที่เก็บได้ในปี 2558 เฉพาะในกรุงเทพมหานคร รวมทั้งหมด 825,614ใบ แบ่งเป็น กระทงจากวัสดุธรรมชาติ เช่น ต้นกล้วย ใบตอง จำนวน 754,587 ใบ และกระทงจากโฟม จำนวน 71,027 ใบ แม้จะมีการใช้วัสดุธรรมชาติมากขึ้น แต่กระทงทั้งหมดก็กลายเป็นขยะที่ต้องถูกนำไปกำจัดเสียงบประมาณจำนวนมากเพื่อการจัดการ รวมถึงกระทงที่ทำจากขนมปัง ที่คนให้ความสนใจนำมาลอยมากขึ้นเพื่อให้เป็นอาหารปลา หากมีจำนวนมากเกินไปจะทำให้น้ำเน่าเสียได้ ส่วนกระทงที่ทำจากโฟม เป็นวัสดุที่ย่อยสลายยากในธรรมชาตินานถึง 500 ปี หลายคนเชื่อว่าสะดวกดี ลอยน้ำได้ง่าย แต่อาจไปอุดตันตามท่อ กีดขวางทางน้ำ เป็นขยะที่มีสารพิษและมีส่วนทำให้โลกร้อนได้อีกด้วย
นายแพทย์ดนัย กล่าวต่อไปว่า การลอยกระทงโดยใส่ใจสิ่งแวดล้อม ช่วยลดปริมาณขยะ และยังคงสืบสานประเพณีที่ดีงามนั้น สามารถปฏิบัติได้ด้วย 5 วิธีง่าย ๆ ดังนี้
1) ลอยกระทงเดียวร่วมกัน ช่วยลดขยะและประหยัดเงิน เช่น มากันเป็นครอบครัวๆ ละ 1 ใบ มาเป็นกลุ่มเพื่อน กลุ่มละ 1ใบ มากับแฟน ลอยกระทงร่วมกัน 1 ใบ เป็นการสานสัมพันธ์ที่ดี
2) เลือกกระทงที่ขนาดเล็กแทนขนาดใหญ่
3) เลือกกระทงที่ทำจากวัสดุจากธรรมชาติที่ไม่ทำให้น้ำเน่าเสีย หรือวัสดุที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้
4) เลือกกระทงที่ใช้วัสดุไม่หลากหลายเกินไปเพื่อลดภาระการคัดแยกก่อนนำไปกำจัดและไม่มีองค์ประกอบที่ย่อย
สลายยาก เช่น เข็มหมุด พลาสติก โฟม เพื่อลดขยะในแหล่งน้ำ
5) ลอยกระทงออนไลน์ เพื่อลดปริมาณขยะ
"ทั้งนี้ ที่ผ่านมากรมอนามัยได้มีแนวทางการจัดการขยะ ด้วยการสนับสนุนให้ประชาชนคัดแยกขยะเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่หรือการนำไปใช้ประโยชน์ อันจะช่วยลดปริมาณขยะที่ต้องนำไปกำจัดขั้นสุดท้าย เป็นการลดค่าใช้จ่ายในการเก็บขนและกำจัด เพื่อให้การแก้ไขปัญหาการจัดการขยะมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด
ข่าวเด่น