ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
หนี้เสียแบงก์พาณิชย์ไตรมาส 3/59 พุ่งสูงสุดรอบ 5 ปี 'เอสเอ็มยังน่าห่วง'


 


นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 3 ปี 2559 ว่าระบบธนาคารพาณิชย์มีเสถียรภาพ มีเงินสำรองและเงินกองทุนในระดับสูง สามารถรองรับการขยายตัวของสินเชื่อในระยะต่อไป อย่างไรก็ดี ภาวะที่เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปและยังจำกัดเฉพาะบางภาคส่วน ส่งผลให้สินเชื่อขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงและคุณภาพสินเชื่อโดยรวมด้อยลงต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลกระทบต่อความสามารถในการทำกำไรของระบบธนาคารพาณิชย์ โดยมีรายละเอียด ดังนี้

ภาวะเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป กอปรกับการชำระคืนหนี้ของสินเชื่อธุรกิจซึ่งส่วนหนึ่งหันไประดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้ภายใต้ภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำ ส่งผลให้สินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงต่อเนื่องมาอยู่ที่ร้อยละ 2.4 จากระยะเดียวกันปีก่อน

สินเชื่อธุรกิจ (ร้อยละ 67.6 ของสินเชื่อรวม) ขยายตัวร้อยละ 1.1 เทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากร้อยละ 2 ในไตรมาสก่อนจากภาคธุรกิจการเงิน (การคืนหนี้ของธุรกิจโฮลดิ้งเพื่อซื้อกิจการค้าปลีกขนาดใหญ่ ซึ่งส่วนหนึ่งระดมทุนด้วยการออกหุ้นแทน) และสินเชื่อภาครัฐ สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ (ไม่รวมธุรกิจการเงิน) หดตัวน้อยลงที่ร้อยละ 2 โดยยังหดตัวในภาคอุตสาหกรรม ขณะที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นในภาคบริการและพาณิชย์เป็นสำคัญ สำหรับสินเชื่อ SME (ไม่รวมธุรกิจการเงิน) ขยายตัวร้อยละ 3.2 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.9 ในไตรมาสก่อน จากภาคบริการเป็นสำคัญ ซึ่งเป็นผลจากดีลซื้อคืนหุ้นของบริษัทในธุรกิจสื่อสาร

สินเชื่ออุปโภคบริโภค (ร้อยละ 32.4 ของสินเชื่อรวม) ขยายตัวที่ร้อยละ 5.2 ชะลอลงต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนที่ร้อยละ 6 โดยเป็นการชะลอลงจากสินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อบัตรเครดิต ซึ่งขยายตัวชะลอลงมาอยู่ที่ร้อยละ 7.7 2.7 และ 6 ตามลำดับ ขณะที่สินเชื่อรถยนต์ขยายตัวเพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 1.9 ตามยอดขายรถยนต์ในประเทศที่ปรับดีขึ้น

คุณภาพสินเชื่อด้อยลงต่อเนื่อง ทั้งในสินเชื่อธุรกิจโดยเฉพาะสินเชื่อธุรกิจ SME และสินเชื่ออุปโภคบริโภค โดยสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-Performing Loan : NPL) มียอดคงค้าง 393.6 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 19.9 พันล้านบาท ส่งผลให้สัดส่วน Gross NPL ต่อสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 2.89 จากร้อยละ 2.72 ขณะที่สินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ (Special Mention Loan : SM) มียอดคงค้าง 324 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 26 พันล้านบาท ทำให้สัดส่วน SM ต่อสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ ร้อยละ 2.38 จากร้อยละ 2.17 ทั้งนี้ ธนาคารพาณิชย์มีการกันสำรองเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับคุณภาพสินเชื่อที่อาจด้อยลง โดยเงินสำรองของระบบธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้น 21 พันล้านบาท เป็น 513.2 พันล้านบาท ส่งผลให้สัดส่วนเงินสำรองที่มีต่อเงินสำรองพึงกันเพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ร้อยละ 161.6 จากไตรมาสก่อนที่ร้อยละ 161.3

"เมื่อพิจารณาสัดส่วน NPL ในกลุ่มสินเชื่ออุปโภคบริโภคจะพบว่าปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นเกือบทุกประเภท โดยสินเชื่อบัตรเครดิตขยายตัวที่ 5.10% สูงสุดในรอบ 11 ปี นับตั้งแต่ปี 2548  แต่ไม่ถือว่าน่าห่วง  เพราะสัดส่วนสินเชื่อมีประมาณ 1.7% ของสินเชื่อรวม ขณะที่สินเชื่อที่อยู่อาศัยปรับเพิ่มขึ้นเป็น 2.81% และ NPL สินเชื่อส่วนบุคคลปรับเพิ่มขึ้นเป็น 2.94% ส่วน NPL สินเชื่อรถยนต์ปรับลดลงมาอยู่ที่ 1.81%"นายดอนกล่าว


ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า "เอ็นพีแอลไตรมาส 3 เพิ่มขึ้นมาอยู่ 2.89%   มียอดคงค้างที่ 3.93 แสนล้านบาท จากไตรมาสก่อนหน้าซึ่งอยู่ระดับ 2.72% โดยตัวเลขดังกล่าว ถือเป็นการเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 5 ปี นับจากไตรมาส 2 ปี 2554 ซึ่งมีสัดส่วนเอ็นพีแอลอยู่ที่ 2.95% เดิมเราคิดว่า การเพิ่มขึ้นของเอ็นพีแอล จะเริ่มชะลอลง แต่ไตรมาสนี้ยังคงสูงขึ้น ขณะที่ตัวเลขเอสเอ็ม(สินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ) ในไตรมาสนี้อยู่ที่ 2.38% ทำให้ถือเป็นไตรมาสแรกในรอบ 2-3 ไตรมาส ที่สัดส่วนเอ็นพีแอลเมื่อรวมกับเอสเอ็มปรับเพิ่มขึ้น โดยมาอยู่ที่ 5.27% จากไตรมาสก่อนหน้าที่ 4.88%"

นายดอน กล่าวว่า การเพิ่มขึ้นของเอ็นพีแอล กลุ่มบัตรเครดิต ส่วนหนึ่งเป็นผลจากคุณภาพสินเชื่อที่ด้อยลง แต่อีกส่วนเกิดจากการที่ผู้ตรวจสอบของ ธปท. พบว่า มีธนาคารพาณิชย์บางแห่งจัดชั้นหนี้ไม่ถูกต้อง ซึ่งจริงๆ ควรต้องมีสินเชื่อบางส่วนถูกจัดชั้นเป็นเอ็นพีแอล แต่ธนาคารพาณิชย์รายนั้นไม่ได้จัดไว้ ธปท. จึงขอให้มีการจัดชั้นอย่างถูกต้อง ส่งผลให้ เอ็นพีแอล บัตรเครดิตไตรมาสนี้เพิ่มขึ้นมาค่อนข้างมาก "

แม้เอ็นพีแอลของบัตรเครดิตจะเพิ่มสูงขึ้น แต่สัดส่วนของสินเชื่อบัตรเครดิตเทียบกับสินเชื่อรวมทั้งระบบถือว่าน้อยมาก โดยมีสัดส่วนเพียง 1.7% สินเชื่อโต 2.4%ต่ำสุดรอบ 6 ปี 

ในไตรมาส 3 ปี 2559 ระบบธนาคารพาณิชย์มีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นจากการบริหารต้นทุน เงินฝาก โดยมีกำไรจากการดำเนินงาน 97.1 พันล้านบาท หดตัวที่ร้อยละ 9.8 จากระยะเดียวกันปีก่อน เนื่องจากผลของฐานรายได้จากการขายเงินลงทุนและเงินปันผลที่สูงในระยะเดียวกันปีก่อน ขณะที่กำไรสุทธิเท่ากับ 49.8 พันล้านบาท ลดลงเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.3 จากระยะเดียวกันปีก่อน สำหรับอัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (Net Interest Margin : NIM) ทรงตัวที่ร้อยละ 2.6 และอัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (Return on Asset : ROA) ลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ร้อยละ 1.1 จากร้อยละ 1.2 ในไตรมาสก่อน

ภาพรวมฐานะทางการเงินของระบบธนาคารพาณิชย์มีเสถียรภาพ โดยมีเงินกองทุนทั้งสิ้น 2,372.3 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากการจัดสรรกำไร และมีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 18.5








 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 11 พ.ย. 2559 เวลา : 07:11:55

24-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 24, 2024, 3:13 pm