รัฐมนตรีเกษตรฯ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่เกษตรสมัยใหม่ (ข้าว) พร้อมบูรณาการทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคเกษตรกร ร่วมกันดำเนินงานในแนวทางประชารัฐ
พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานตามนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ และศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร ณ ตำบลเดิมบาง อ.เดิมบางนางบวช จ.สุพรรณบุรี ว่า แปลงใหญ่เกษตรสมัยใหม่ (ข้าว) นี้ มีการขับเคลื่อนนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ชัดเจน มีศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) เป็นจุดเรียนรู้เทคโนโลยีการผลิตข้าว ของอำเภอเดิมบางนางบวช เป็นหลักทางด้านวิชาการ และสนับสนุนข้อมูลให้กับเกษตรแปลงใหญ่ในพื้นที่ ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นหลักในการดำเนินงาน บูรณาการกิจกรรม ประสานความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนและเกษตรกรในพื้นที่ ตั้งแต่ร่วมกันวางแผนการผลิต บริหารจัดการ กำหนดคุณภาพ จนถึงวางแผนการตลาด นำไปสู่การลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ และขายผลผลิตได้ราคา เกิดการพัฒนาพื้นที่แปลงใหญ่อย่างครบวงจรและเบ็ดเสร็จ
สำหรับทางด้านการตลาด การรับซื้อ/การให้ราคา เกษตรกรที่เข้าร่วมการดำเนินงานในแปลงใหญ่เกษตรสมัยใหม่ (ข้าว) จะได้รับการพัฒนาในด้านการบริหารจัดการในการผลิต ทั้งในประเด็นของเทคโนโลยีที่ใช้ในการผลิตให้มีความเหมาะสมและทันสมัย ที่จะนำไปสู่การผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพมาตรฐาน ต้นทุนการผลิตลดลง สามารถแข่งขันในตลาดได้ ซึ่งเกษตรกรที่เข้าร่วมจะมีความมั่นคงในด้านการตลาดกว่าเกษตรกรทั่วไป เพราะจะมีการเจรจาเชื่อมโยงการตลาดกับเอกชน ตั้งแต่การวางแผนการผลิต ทำให้ทราบปริมาณและคุณภาพผลผลิตที่ตลาดต้องการ ซึ่งจะนำมาสู่การวางแผนการผลิต ที่มีประสิทธิภาพและมีการจัดซื้อผลผลิตตามคุณภาพ ซึ่งผลผลิตในแปลงใหญ่จะมีปริมาณและคุณภาพที่ดี มีความแน่นอน ทำให้ราคาที่เกษตรกรขายได้สูงกว่าราคาตลาดทั่วไป นอกจากนี้ เกษตรกรมีการรวมกลุ่มกันเพื่อบริหารจัดการร่วมกัน นำไปสู่การพัฒนาเกษตรกรที่มีพลังอำนาจในการต่อรองมากขึ้น และเป็นกลุ่มองค์กร ที่มีความเข็มแข็ง สามารถพึ่งตนเองได้มากขึ้น นำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของประเทศที่มีความเข้มแข็ง
พลเอก ฉัตรชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า การวางแผนการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวข้าว เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเครื่องจักรกลการเกษตร สอดคล้องกับความต้องการและกำลังการผลิตของโรงสี โดยทุกแปลงจะใช้เมล็ดพันธุ์ดี ปรับเปลี่ยนไปใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน และมีการรวมกลุ่มกันซื้อปัจจัยการผลิต ช่วยในการลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิต อีกทั้งยังได้นำเทคโนโลยีปรับระดับดินในแปลงนาด้วยเลเซอร์มาทดลองใช้ เพื่อลดการใช้น้ำ พลังงานและลดปัญหาวัชพืช และใช้เครื่องโรยเมล็ดพันธุ์ข้าวงอกเพื่อลดการใช้เมล็ดพันธุ์และแรงงานคน มีต้นทุนการผลิตเฉลี่ยลดลงร้อยละ 26.4 จาก 4,500 บาท/ไร่ เหลือ 3,310 บาท/ไร่ ได้ผลผลิตเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.5 จาก 800กิโลกรัม/ไร่ เป็น 900 กิโลกรัม/ไร่ สามารถเชื่อมโยงด้านการตลาด โดยทำข้อตกลงความร่วมมือการซื้อ–ขาย ข้าวกับภาคเอกชน รับซื้อข้าวจากเกษตรกรแปลงใหญ่ทั้งหมดในราคาสูงกว่าท้องตลาด 300 บาท/ตัน ทำให้เกษตรกรมีตลาดรับซื้อที่แน่นอน ผลผลิตตรงกับความต้องการของตลาด และขายข้าวได้ราคา นอกจากนี้ยังได้มีการบริหารจัดการการผลิต (เกษตรผสมผสาน/Cash crop) ซึ่งจะทำให้เกษตรกรมีรายได้เสริมจากกิจกรรมเสริม ได้แก่ ผักสวนครัว เลี้ยงไก่ไข่ กบ และปลาอีกด้วย
ข่าวเด่น