ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
กรมควบคุมโรคแนะไม่ควรลงเก็บกระทงอาจเป็นตะคริวจมน้ำ-เตือนดูแลเด็ก


 


กรมควบคุมโรค เตือนลอยกระทง ระวังการจุดพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟ พร้อมเผย 10 ปีเด็กจมน้ำเสียชีวิตช่วงลอยกระทง 129 ราย แนะไม่ควรลงเก็บกระทง อาจเป็นตะคริวและจมน้ำได้

วันนี้(11 พฤศจิกายน 2559) นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า วันลอยกระทงในปี 2559 นี้ ตรงกับวันจันทร์ที่ 14 พฤศจิกายน  ซึ่งในแต่ละพื้นที่จะมีการจัดกิจกรรมตามประเพณีและมีประชาชนจำนวนมากร่วมงานดังกล่าว ซึ่งทุกๆ ปีจะมีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุต่างๆ โดยเฉพาะการบาดเจ็บจากการจุดพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟ ที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บรุนแรงและความพิการ และอุบัติเหตุจากการจมน้ำที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี
          
จากข้อมูลโรงพยาบาลเครือข่ายเฝ้าระวังการบาดเจ็บแห่งชาติ 33 แห่ง (รวบรวมโดยสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค) ในช่วง 5 ปี (ปี 2554-2558) พบผู้บาดเจ็บรุนแรงจากพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟ ที่มารักษาในโรงพยาบาล 3,326 ราย (เฉลี่ยปีละ 665 ราย) ในจำนวนนี้เสียชีวิต 10 ราย  เฉพาะช่วงวันลอยกระทง 5 ปีที่ผ่านมามีผู้บาดเจ็บมากถึง 109 ราย  และล่าสุดในปี 2558 มีผู้บาดเจ็บ 532 ราย เสียชีวิต 1 ราย ส่วนใหญ่เป็นเพศชาย(ร้อยละ 93.2) กลุ่มอายุที่พบมากสุดคือ 15-19 ปี(ร้อยละ 13.2) รองลงมาคือ 60 ปีขึ้นไป และ 20-24 ปี ตามลำดับ ส่วนอวัยวะที่ได้รับการบาดเจ็บมากสุดคือ มือและข้อมือ(ร้อยละ 32) รองลงมาคือ บริเวณดวงตา และบริเวณศีรษะ ตามลำดับ นอกจากนี้ยังพบว่ามีผู้บาดเจ็บดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ร่วมด้วยถึง 22%
          
สำหรับคำแนะนำ มีดังนี้ 1.ไม่ควรเล่นผาดโผน ใกล้วัตถุไวไฟหรือบ้านเรือน 2.ไม่เก็บพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟ ไว้ในกระเป๋าเสื้อ/กางเกง หรือที่มีอากาศร้อน แสงแดดส่องเพราะทำให้เกิดการเสียดสีและระเบิดได้ 3.การเล่นพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟ ของเด็กจะต้องอยู่ในความดูแลของผู้ปกครองอย่างใกล้ชิด  4.ห้ามพยายามจุดดอกไม้ไฟ หรือพลุที่จุดแล้วไม่ติดหรือไม่ระเบิดอย่างเด็ดขาด และควรเตรียมถังน้ำไว้ 1 ถังใกล้ตัวเสมอเวลาเล่น เพื่อใช้ดับเพลิง
          
นายแพทย์เจษฎา กล่าวต่อไปว่า อีกปัญหาที่สำคัญคือ การจมน้ำ เพราะเทศกาลลอยกระทงทุกปี เด็กจะมีความเสี่ยงจมน้ำมากขึ้น เพราะเด็กมักจะอยู่ใกล้แหล่งน้ำเพื่อลอยกระทงทำให้เสี่ยงที่จะลื่นและพลัดตกได้ เหตุการณ์ที่มักพบเห็นกันบ่อยๆคือ การลงไปเก็บเงินในกระทง ในขณะที่กลุ่มผู้ใหญ่ความเสี่ยงจะเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากมีการดื่มสุราร่วมด้วย จากข้อมูลช่วง 10 ปีที่ผ่านมา(ปี 2549-2558) ช่วงเทศกาลลอยกระทง 3 วันคือ ก่อนวันลอยกระทง วันลอยกระทง และหลังวันลอยกระทง พบว่ามีคนจมน้ำเสียชีวิตมากถึง 438 คน โดยเป็นเด็ก(อายุต่ำกว่า 15 ปี) ถึง 129 คนหรือสูงถึงร้อยละ 29.5 เฉพาะในวันลอยกระทงวันเดียวมีคนจมน้ำเสียชีวิตสูงถึง 172 คน โดยแยกเป็นเด็ก 59 คน (ร้อยละ 34.3) เฉลี่ยวันละเกือบ 6 คน  ซึ่งมากกว่าในช่วงวันปกติเกือบ 2 เท่า นอกจากนี้ ยังพบว่าเป็นชายมากกว่าหญิงประมาณ 2 เท่า และกลุ่มอายุที่พบมากสุดคือ 5-9 ปี
          
คำแนะนำสำหรับผู้ปกครองคือ ควรดูแลเด็กอย่างใกล้ชิดไม่ให้คลาดสายตา และเพิ่มความระมัดระวังเมื่อนำเด็กเข้าใกล้แหล่งน้ำ โดยเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีต้องอยู่ในระยะที่มองเห็นและเข้าถึง ที่สำคัญไม่ปล่อยให้เด็กไปลอยกระทงกันเองตามลำพังแม้จะอยู่บนฝั่งเพราะอาจพลัดตกหรือลื่นได้ และไม่ควรให้เด็กลงเก็บกระทงหรือเก็บเงินในกระทงเด็ดขาด เพราะเด็กอาจจมน้ำและเสียชีวิตได้ เนื่องจากเป็นตะคริวเพราะอยู่ในน้ำเป็นนานและอากาศหนาวเย็นด้วย ส่วนในกลุ่มผู้ใหญ่ควรหลีกเลี่ยงการดื่มสุราและลงน้ำ หากมีการโดยสารเรือให้สวมเสื้อชูชีพทุกครั้งทั้งผู้ใหญ่และเด็ก
          
ส่วนหน่วยงานที่จัดเตรียมพื้นที่สำหรับให้ประชาชนไปลอยกระทง มีข้อแนะนำ ดังนี้ 1.ควรกำหนดพื้นที่ในการลอยกระทง ทำรั้วหรือสิ่งกั้นขวางเพื่อป้องกันเด็กตกน้ำ และควรมีผู้ดูแลตลอดเวลา 2.เตรียมอุปกรณ์ช่วยคนตกน้ำไว้ใกล้แหล่งน้ำเป็นระยะๆ ที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย เช่น ถังแกลลอน เชือก ไม้ 3.ติดป้ายคำเตือนไว้ในพื้นที่เสี่ยงหรือที่ห้ามลงไปลอยกระทง 4.ผู้จัดการพาหนะในการเดินทางทางน้ำต้องเตรียมชูชีพสำหรับผู้โดยสารให้ครบทุกคน และต้องไม่บรรทุกผู้โดยสารหรือน้ำหนักเกินจำนวน หากประชาชนพบเห็นผู้ได้รับบาดเจ็บ ขอให้รีบโทรแจ้งขอความช่วยเหลือจากทีมแพทย์กู้ชีพ โทร 1669 และสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422  





 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 11 พ.ย. 2559 เวลา : 15:04:51

24-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 24, 2024, 5:19 pm