กระทรวงสาธารณสุข ร่วมมือ 4 หน่วยงาน คือ สภากาชาดไทย กรมบัญชีกลาง สำนักงานประกันสังคม และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จัดทำโครงการ “ขจัดตาบอดและสายตาเลือนรางจากต้อกระจกปี 2560” ถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดช และเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา 84 พรรษา สภานายิกาสภากาชาดไทย และในโอกาส 60 ปีทรงดำรงตำแหน่งสภานายิกาสภากาชาดไทย ให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพตาดี
ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ปัญหาตาบอดจากโรคต้อกระจกพบมากในผู้สูงอายุร้อยละ 51และผลสำรวจของรพ.เมตตาประชารักษ์ ปีพ.ศ.2556 พบว่า ผู้สูงอายุที่ตาบอดจากต้อกระจกยังคงตกค้างอีกประมาณ 65,000 คน เป็นปัญหาด้านสุขภาพของผู้สูงอายุจำนวนมาก กระทรวงสาธารณสุขจึงได้จัดทำโครงการ “สาธารณสุขรวมใจ มอบโลกสดใส เทิดไท้องค์ราชัน” ผ่าตัดเปลี่ยนใส่เลนส์แก้วตาเทียมให้ฟรีให้แก่ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 62,330 ราย ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 60,000 ราย
ทั้งนี้เนื่องจากมีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นทุกปีหากไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้ตาบอดถาวรได้ กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับ 4 หน่วยงานหลัก คือ สภากาชาดไทย กรมบัญชีกลาง สำนักงานประกันสังคม และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จัดทำโครงการ “ขจัดตาบอดและสายตาเลือนรางจากต้อกระจกปี 2560” ถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดช และเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสทรงเจริญ พระชนมพรรษา 84 พรรษา และในโอกาส 60 ปีทรงดำรงตำแหน่งสภานายิกาสภากาชาดไทย ให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพตาดี เพื่อให้ประชาชนไทยสามารถเข้าถึงบริการที่มีมาตรฐานได้อย่างทั่วถึง ตั้งเป้าผ่าตัดผู้ป่วยตาต้อกระจกที่ตกค้างให้หมดภายในปี 2560 ลดอัตราตาบอดให้ได้ตามที่องค์การอนามัยโลกกำหนด คือไม่เกินร้อยละ 0.5 นอกจากนี้ยังจัดโครงการ “เด็กไทยสายตาดีเพื่อเพิ่มโอกาสการเรียนรู้” และขยายผลในนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 1 ในปีการศึกษา 2560 ด้วย
ด้านนายแพทย์ธีรพล โตพันธานนท์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า จากการสำรวจภาวะตาบอดและสายตาเลือนราง ของโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์(วัดไร่ขิง)ปี 2556 พบคนไทยตาบอดร้อยละ 0.6 โดยสาเหตุที่พบมากที่สุดเกิดจากต้อกระจก พบตาบอดจากต้อกระจกตกค้างประมาณ 70,000 ราย และตาบอดจากต้อกระจกชนิดรายปีละ 60,000 ราย กรมการแพทย์ประสานทุกภาคส่วนพร้อมเครื่องมือผ่าตัด ลงไปช่วยผ่าตัดในภูมิภาคที่โรงพยาบาลชุมชน เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการใกล้บ้าน ใช้เวลาผ่าตัดคนละ 30 นาที ได้รับการผ่าตัดเร็วขึ้น
ทั้งนี้ผู้สูงอายุทุกคนสามารถเข้าถึงการบริการ ของโรงพยาบาลที่อยู่ในเครือกระทรวงสาธารณสุข ผู้ที่มีปัญหาเรื่องสายตา หรือมีสัญญาณว่าอาจป่วยเป็นต้อกระจก ตามัว มองไม่ค่อยชัด จากระยะ 3 เมตร หรือมองไม่เห็น ควรปรึกษาแพทย์โรงพยาบาลใกล้บ้าน ซึ่งสามารถใช้สิทธิ์ในการเบิกได้ทุกสิทธิ์และทุกโรงพยาบาลของรัฐ
ข่าวเด่น