นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2557 ถึงปัจจุบัน กกพ.ได้ดำเนินงานตามแผนงานดูแลกิจการพลังงานหมุนเวียนที่สำคัญ กำกับกิจการพลังงานอย่างโปร่งใสเป็นธรรมและตรวจสอบได้ โดยเฉพาะการยกเลิกระบบส่วนเพิ่มค่าไฟฟ้า (แอดเดอร์) เป็นระบบส่วนเพิ่มค่าไฟฟ้าตามต้นทุนแท้จริง (เอฟไอที) ให้กับโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (ยกเว้นพลังงานแสงอาทิตย์) ที่มีการปรับไปก่อนหน้านี้ตามนโยบายของรัฐที่ต้องการสร้างแรงจูงใจ ตื่นตัวในการลงทุนจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กและผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก โดยการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ล่าสุดข้อมูลเดือนตุลาคม 2559 มีการรับซื้อแล้วจำนวน 9,175 เมกะวัตต์ (7,216 โครงการ) จากเป้าหมายการรับซื้อทั้งหมดจำนวน 16,778 เมกะวัตต์ ตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ.2558-2579 (เออีดีพี) ไม่รวมพลังน้ำขนาดใหญ่ และคงเหลืออีก จำนวน 7,603 เมกะวัตต์ ที่จะเปิดให้มีการลงทุนต่อไป
สำหรับโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน อาทิ โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินสำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร ระยะที่ 1 ซึ่งมีผู้ผ่านการคัดเลือก จำนวน 67 โครงการ รวม 281.32 เมกะวัตต์ ได้ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (พีพีเอ) กับการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย (กฟภ.และ กฟน.) ไปแล้วรวม 65 โครงการ และมียกเลิกตอบรับซื้อไฟฟ้า 2 โครงการ โดยทั้ง 65 โครงการ อยู่ระหว่างการขอใบอนุญาตผลิตไฟฟ้าและใบอนุญาตอื่นที่เกี่ยวข้อง ซึ่ง กกพ.ได้เร่งรัดการออกใบอนุญาตฯอยู่ในขณะนี้ เพื่อให้สามารถดำเนินการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ได้ทันภายในกำหนดเดือนธันวาคม 2559 โครงการรับซื้อไฟฟ้าเอฟไอที (ไม่รวมโครงการพลังงานแสงอาทิตย์) ระยะที่ 1 สำหรับพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (จ.ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส) และ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา (อ.จะนะ เทพา สะบ้าย้อย และนาทวี) ประเภทชีวภาพ ผู้ได้รับการคัดเลือก 1 โครงการ ขนาดกำลังผลิตติดตั้ง 2.0 เมกะวัตต์ พีพีเอแล้วเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2559 อยู่ระหว่างการขอใบอนุญาตผลิตไฟฟ้าและใบอนุญาตอื่นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งต้องดำเนินการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ภายในเดือนธันวาคม 2561
ส่วนความคืบหน้าการรับซื้อไฟฟ้าพิเศษจากขยะอุตสาหกรรม ผู้ที่ได้รับการคัดเลือก จำนวน 7 โครงการ ที่มีปริมาณพลังไฟฟ้าเสนอขายรวมไม่เกิน30.78 เมกะวัตต์ และกำลังผลิตติดตั้งรวมไม่เกิน 41.83 เมกะวัตต์ อยู่ระหว่างดำเนินการทำสัญญาฯ (PPA) ภายในวันที่ 25 ก.พ. 60 ซึ่งต้องดำเนินการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (SCOD) ภายในเดือน ธ.ค. 62 สำหรับการรับซื้อไฟฟ้าพิเศษจากขยะชุมชน จำนวน 140 เมกะวัตต์ เพื่อจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (SCOD) ภายในเดือน ธ.ค. 62 นั้น จะประกาศรับซื้อได้ภายในเดือน พ.ย. นี้
“ทุกโครงการที่กล่าวมาข้างต้น กกพ. ได้ขอให้ผู้ได้รับคัดเลือกเร่งดำเนินการตามกระบวนการให้เป็นไปตามกรอบเวลาที่กำหนด เพื่อไม่ให้กระทบกับวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (SCOD) โดย กกพ. ได้อำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการ และให้สามารถยื่นขอใบอนุญาตผลิตไฟฟ้าและใบอนุญาตอื่นที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้า (รง.4) ใบอนุญาตก่อสร้าง ดัดแปลงอาคาร หรือรื้อถอนอาคาร (อ.1) (ถ้ามี) และใบอนุญาตให้ผลิตพลังงานควบคุม (พค.2) ได้ทั้งที่สำนักงาน กกพ. ส่วนกลาง (กรุงเทพฯ) และสำนักงาน กกพ. ประจำเขต 13 เขตที่โรงไฟฟ้าตั้งอยู่” นายวีระพลกล่าว
ข่าวเด่น