ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
กสอ. โชว์ 'สมาร์ท ฟาร์มหมู' ตัวอย่างนวัตกรรมอุตสาหกรรมเกษตรแห่งความยั่งยืน


 


 
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เร่งผลักดันอุตสาหกรรมเกษตร หนึ่งในสาขาอุตสาหกรรมเป้าหมายจากยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 ด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ อาทิ การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในการจัดการข้อมูลเพื่อการคาดการณ์และการวางแผน การใช้ความรู้จากกระบวนการทางชีวภาพและวิทยาศาสตร์ต่าง ๆ มาใช้ปรับปรุงให้ผลิตผลเกิดประสิทธิภาพ การให้ความสำคัญกับการอยู่ร่วมกับทรัพยากร ธรรมชาติหรือกระบวนการเกษตรอย่างยั่งยืน  เป็นต้น โดยเน้นการพัฒนาตั้งแต่ระดับต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ พร้อมผลักดันโครงการส่งเสริมและพัฒนา ในอุตสาหกรรมดังกล่าว ภายใต้งบประมาณกว่า 80 ล้านบาท อาทิ โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป  โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารแปรรูป เป็นต้น ทั้งนี้ ยังมีโครงการที่เร่งส่งเสริมในระดับภูมิภาค ได้แก่ โครงการ Thailand Food Valley โดยพบว่าภาคเหนือของประเทศไทยเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพ สามารถเป็นได้ทั้งแหล่งผลิตและแหล่งแปรรูป ซึ่งสามารถผลักดันสู่การแข่งขันได้ในเวทีการค้าระดับสากลอย่างยั่งยืนได้ต่อไปในอนาคต

ดร.พสุ โลหารชุน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า อุตสาหกรรมการเกษตรถือเป็นรากฐานทางเศรษฐกิจของประเทศไทยที่มีมาอย่างยาวนานและต่อเนื่อง และถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายในประเภทอุตสาหกรรมเดิม ที่มีบทบาทและทิศทางการเติบโตที่สอดคล้องกับค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ หรือ GDP ในระดับสูง โดยสามารถนำไปเชื่อมโยงการผลิตระหว่างภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรมอื่น ๆ ทั้งที่เป็นอุตสาหกรรมหลักและอุตสาหกรรมสนับสนุนได้อย่างหลากหลาย ต่อยอดสู่การเป็นผลิตภัณฑ์และสินค้าใหม่ ๆ  เพื่อสร้างมูลค่าให้เกิดขึ้น พร้อมทั้งเป็นส่วนสำคัญต่อการผลิตปัจจัยสี่โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอาหารและอาหารแปรรูปที่นำมาซึ่งรายได้หลัก สามารถนำไปสู่การจ้างงาน ตลอดจนเพิ่มรายได้ประชาชาติที่สูงขึ้น ซึ่งในอนาคตอุตสาหกรรมประเภทนี้จะยิ่งทวีความสำคัญในด้านบทบาทและการเป็นพื้นฐานที่จำเป็นที่จะต้องเร่งพัฒนาเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจให้เกิดขึ้นต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง

           
 
 
ดร.พสุ กล่าวเพิ่มเติมว่า การผลิตในภาคเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรของไทยถือว่ามีความก้าวหน้ามากกว่าในอดีตและประเทศเพื่อนบ้านเป็นอย่างมาก แต่ก็ยังมีอุปสรรคที่สำคัญคือ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีในปัจจุบัน รวมทั้งต้นทุนการผลิตของประเทศเพื่อนบ้านที่ต่ำกว่าทั้งในด้านวัตถุดิบและแรงงานซึ่งเมื่อพิจารณาทิศทางในการพัฒนาเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรแล้ว จำเป็นจะต้องพัฒนาตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ รวมทั้งการพัฒนาในเรื่องเทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้การดำเนินงานด้านอุตสาหกรรมเกิดความเข้มแข็ง อีกทั้งยังเป็นอาวุธที่จะช่วยยกระดับความสามารถทางการแข่งขันของไทยให้ก้าวเดินในตลาดโลกได้ ไม่ว่าจะเป็นการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในการจัดการข้อมูลเพื่อการคาดการณ์และการวางแผน การใช้ความรู้จากกระบวนการทางชีวภาพและวิทยาศาสตร์ต่างๆ มาใช้ปรับปรุงให้ผลิตผลเกิดประสิทธิภาพ มีสภาพที่สมบูรณ์จนถึงมือผู้บริโภค รวมถึงการให้ความสำคัญกับการอยู่ร่วมกับทรัพยากรธรรมชาติ หรือกระบวนการเกษตรอย่างยั่งยืน ซึ่งกลยุทธ์และกลวิธีที่จะใช้ในการดำเนินงานเหล่านี้จะช่วยส่งผลให้ธุรกิจการเกษตรของประเทศเติบโตได้อย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน

 
อย่างไรก็ดี การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการเกษตรด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีนั้น เป็นการตอบโจทย์หนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายของยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 ที่จะช่วยให้กลุ่มธุรกิจดังกล่าวนี้สามารถพัฒนาไปอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นเสมือนการต่อยอดความได้เปรียบให้เกิดขึ้น อีกทั้งยังช่วยให้เกิดการสร้างตลาดใหม่ ๆ หรือขยายผลจากนวัตกรรมทางธุรกิจให้สามารถมีศักยภาพในการแข่งขันเชิงพาณิชย์ ทั้งนี้ ยังเป็นเสมือนการต่อยอดให้เกิดการพัฒนาในอุตสาหกรรมอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปและอุตสาหกรรมอาหารแปรรูป อีกทั้งยังสอดคล้องกับความมุ่งมั่นจากภาครัฐ ที่จะผลักดันให้ประเทศไทยยังคงครองความเป็นผู้ผลิตสินค้าเกษตรรายใหญ่ และเป็นประเทศศูนย์กลางผู้ผลิตอาหารป้อนแก่ผู้บริโภคในระดับนานาชาติได้ต่อไป ทั้งนี้ ในปี 2560 กสอ. ได้จัดเตรียมโครงการเพื่อการพัฒนาและรองรับการเติบโตอุตสาหกรรมเกษตรและอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง กว่า 10 โครงการ ภายใต้งบประมาณกว่า 80 ล้านบาท เพื่อพัฒนาและยกระดับ SMEs จำนวน 280 กิจการ / 890 คน และเกิดการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ 120 ผลิตภัณฑ์
 
 
อาทิ โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารแปรรูป โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีโครงการที่ส่งเสริมในระดับภูมิภาค ได้แก่ โครงการ Thailand Food Valley ที่เร่งผลักดันผลลัพธ์ให้เกิดศูนย์กลางเกษตรและการผลิตอาหารในแต่ละพื้นที่ โดยพบว่าภาคเหนือของประเทศไทยจัดเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการผลิตภูมิภาคหนึ่ง ด้วยจุดแข็งจากความหลากหลายและคุณภาพของสินค้า สามารถเป็นได้ทั้งแหล่งผลิตและแหล่งแปรรูป รวมทั้งมีสถาบันและโครงการเพื่อการวิจัยเทคโนโลยีที่จะสามารถแปรองค์ความรู้และกระบวนการต่างๆ โดยมีการจัดตั้งศูนย์ประสานงานระดับปฏิบัติการ (Command Center) ณ ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 เพื่อขับเคลื่อน Northen Thailand Food Valley ในพื้นที่ภาคเหนือ รวมทั้งมีการบูรณาการกับสภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ และสถาบันการศึกษาในพื้นที่ ร่วมกันดำเนินการให้เกิดการพัฒนาได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งในอนาคตหากมีการพัฒนาด้วยกระบวนการเหล่านี้มากขึ้น ก็จะยิ่งนำมาซึ่งการสร้างมูลค่าเพิ่มทางธุรกิจ และเป็นจุดแข็งที่สามารถผลักดันสู่เวทีการค้าในระดับสากลได้ต่อไป ดร.พสุ กล่าวปิดท้าย

         
ด้านนายวรพงศ์ จีรประภาพงศ์ ผู้จัดการทั่วไปสายงานผลิตภัณฑ์อาหารในเครือวีพีเอฟ กล่าวว่า ในปัจจุบันอุตสาหกรรมเกษตรมีการแข่งขันกันมากขึ้นทั้งจากในและต่างประเทศ โดยในอนาคตจะมีความน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง เนื่องจากประเทศเพื่อนบ้านทั้งเมียนมาร์ เวียดนาม และกัมพูชา มีการขยายตัวจากการทำเกษตรมาเป็นอุตสาหกรรมเกษตรมากขึ้น โดยสิ่งที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดคือประเทศเหล่านี้มีการพัฒนาแบบก้าวกระโดด สามารถเรียนรู้และพัฒนาการทำอุตสาหกรรมของตนเองได้อย่างรวดเร็ว
 
 
ดังนั้น บริษัทจึงต้องมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินงานและวิธีการและปรับตัวตามยุคสมัยในสภาวะที่มีการแข่งขันกันสูง ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงพันธุ์สัตว์เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดีขึ้น การเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า การปรับปรุงอุตสาหกรรมด้วยนวัตกรรม อาทิ การใช้ระบบให้อาหารอัตโนมัติ ที่สามารถคำนวณระยะเวลาและคำนวณระบบการดูดซึมอาหารได้อย่างแม่นยำ พร้อมทั้งประสิทธิภาพการลดใช้แรงงานคน ตลอดจนเพิ่มผลผลิตและคุณภาพให้กับสินค้า นอกจากนี้ ยังมีการใช้นวัตกรรมไบโอฟิลเตอร์ที่เป็นเสมือนตัวบังช่องลมเพื่อกำจัดและลดกลิ่นไม่พึงประสงค์ ระบบการจัดการโรงเรือน ระบบก๊าซชีวภาพและไฟฟ้า ระบบข้อมูลและสารสนเทศ ยิ่งไปกว่านั้น บริษัทยังรุดเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าด้วยการพัฒนาควบคู่ไปกับอุตสาหกรรมอาหารแปรรูป พร้อมทั้งการขยายช่องทางการค้าด้วยการสร้างศูนย์การค้าปลีก และร้านอาหารแบบครบวงจร ซึ่งในอนาคตจะสามารถพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ และการเป็นอุตสาหกรรมด้านการบริการ โดยการปรับตัวในหลายๆ ด้านดังกล่าวนี้จะช่วยให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน

 
 
 
นายวรพงศ์ กล่าวต่อว่า นอกเหนือจากบริษัทจะพัฒนานวัตกรรมเพื่อการดำเนินธุรกิจแล้ว ปัจจุบันยังมุ่งเน้นนโยบายในเรื่อง Green Supply Chain ซึ่งประกอบด้วย Green Feed ,Green Farm ,Green Power, Green Pork, Green Food และ Green Society ซึ่งเป็นการผลักดันตนเองให้เป็นฟาร์มสีเขียว โดยคำนึงถึงด้านความปลอดภัยและการอยู่ร่วมกันกับทรัพยากรธรรมชาติ มีการจัดการพลังงานและความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งในด้านการพัฒนาตลอดห่วงโซ่เหล่านี้จะช่วยให้การดำเนินอุตสาหกรรมสามารถอยู่ร่วมกับสังคมได้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้ บริษัท ยังได้น้อมนำแนวพระราชดำริจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มาปรับใช้ในการทำเกษตรและอุตสาหกรรม โดยยึดถือหลักการเกษตรยั่งยืน ทั้งการประยุกต์ใช้การแบ่งปันพื้นที่เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดของฟาร์ม ด้วยการให้บุคลากรหรือพนักงานสามารถใช้พื้นที่ภายในเพื่อการเพาะปลูก นำมาซึ่งการสร้างรายได้ที่เพิ่มขึ้น โดยรายได้เหล่านี้เกิดจากการค้าขายระหว่างชุมชน รวมทั้งการค้าขายให้กับโรงอาหารภายใน นอกจากนี้ยังมีการนำมูลสุกรที่เหลือใช้มาสร้างพลังงานทดแทน ด้วยการพัฒนาสู่ไบโอแก๊ส ปุ๋ยอินทรีย์ รวมทั้งการผลิตกระแสไฟฟ้าจากแก๊สมีเทนที่สามารถใช้งานได้จริงพร้อมทั้งลดค่าใช้จ่ายและการใช้พลังงานได้กว่า 12 ชั่วโมง ยิ่งไปกว่านั้นบริษัทยังมีการใช้ประโยชน์จากหญ้าแฝกและผักตบชวา ซึ่งถือเป็นพืชมหัศจรรย์ เพื่อการบำบัดน้ำเสียและป้องกันหน้าดินไม่ให้พังทลาย โดยการใช้ประโยชน์ดังที่กล่าวมานี้จะช่วยให้ระบบเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมดำเนินต่อเนื่องไปได้นานที่สุด โดยไม่ส่งผลกระทบด้านลบต่อระบบนิเวศวิทยา และไม่เกิดปัญหาทั้งด้านสุขภาพ สังคม และเศรษฐกิจ

สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมโครงการเสริมสร้างผู้ประกอบการใหม่ได้ที่ สำนักพัฒนาผู้ประกอบการ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม โทร. 02-2024572-74 หรือเข้าไปที่ www.dip.go.th






 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 14 พ.ย. 2559 เวลา : 11:03:45

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 4:09 am