บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) รายงานผลประกอบการไตรมาส 3/2559 มีรายได้จากการขายรวม 586 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 20,410 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 25 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว ปริมาณขายถ่านหินรวมจํานวน 10.7 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 15 จากไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของปริมาณการขายจากเหมืองในประเทศอินโดนีเซีย และออสเตรเลีย โดยแบ่งเป็นการผลิตและจําหน่ายถ่านหินจํานวน 7.08 ล้านตัน และ 3.62 ล้านตัน ตามลําดับ
นางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า “ผลการดำเนินงานของบ้านปูฯ ในไตรมาส 3/2559 สะท้อนให้เห็นว่าบริษัทฯ เริ่มมีรายได้จากกลุ่มธุรกิจหลักในสัดส่วนที่สมดุลขึ้น โดยมีรายได้จากการขายถ่านหินเข้ามามากขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลจากการมุ่งเน้นการพัฒนาประสิทธิภาพด้านการผลิต และมาตรการลดต้นทุนอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับอุปทานของถ่านหินในตลาดถูกจำกัดด้วยนโยบายควบคุมการผลิตที่เคร่งครัดจากประเทศจีน จึงส่งผลให้ราคาขายเฉลี่ยของเหมืองในประเทศอินโดนีเซีย และออสเตรเลียใน ไตรมาสนี้เพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 10 เทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา ขณะเดียวกัน ราคาตลาดถ่านหินที่ปรับสูงขึ้นอย่างชัดเจนยังสนับสนุนให้กำไรจากธุรกิจถ่านหินทั้งในประเทศอินโดนีเซีย ออสเตรเลีย และจีนปรับตัวดีขึ้นด้วย นอกจากนั้น การที่บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) ได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อเดือนตุลาคม เพื่อนำเงินที่ได้จากการขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนประมาณ 389 ล้านเหรียญสหรัฐ มาชำระเงินกู้ยืมคืนแก่บ้านปูฯ และใช้เป็นเงินทุนในธุรกิจไฟฟ้าต่อไปนั้น ยังเสริมให้กลุ่มบ้านปูฯ มีสถานะกระแสเงินสดที่แข็งแกร่ง และพร้อมขยายการเติบโตของธุรกิจไฟฟ้าที่จากปัจจุบันมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 1.9 กิกะวัตต์เทียบเท่า ให้เพิ่มถึง 4.3 กิกะวัตต์เทียบเท่า ภายในปี 2568”
สำหรับธุรกิจถ่านหินของบ้านปูฯ ในไตรมาส 3/2559 บริษัทฯ มีรายได้จากการจำหน่ายถ่านหินจำนวน 544 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 93 ของรายได้จากการขายรวม โดยแบ่งเป็นรายได้จากการขายถ่านหิน ในประเทศอินโดนีเซีย 360 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 25 จาก 289 ล้านเหรียญสหรัฐ ในไตรมาสก่อนหน้า ในขณะที่ออสเตรเลียมีรายได้จากการขายถ่านหินรวม 184 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 31 จาก 140 ล้านเหรียญสหรัฐใน
ไตรมาสก่อนหน้า ทั้งนี้ราคาขายถ่านหินเฉลี่ย (ASP) ของเหมืองในประเทศอินโดนีเซียสำหรับไตรมาส 3/2559 เท่ากับ51.35 เหรียญสหรัฐต่อตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 11 จากไตรมาสก่อนหน้า ส่วนราคาขายถ่านหินเฉลี่ยของเหมืองในประเทศออสเตรเลียเท่ากับ 67.00 เหรียญออสเตรเลียต่อตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8 จากไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของสัดส่วนของการขายถ่านหินในประเทศและส่งออกเป็นร้อยละ 65 และร้อยละ 35 ตามลำดับ โดยราคาขายเฉลี่ยในประเทศมาจากการขายภายใต้สัญญาขายที่ราคาสูงมากกว่าการขายภายใต้สัญญาเดิม (Legacy contracts) ที่ราคาต่ำกว่า
รายได้จากธุรกิจไฟฟ้าของบ้านปูฯ สะท้อนถึงผลการดำเนินงานที่ดีของโรงไฟฟ้าในประเทศจีน โดยรับรู้กำไรสุทธิจำนวน 4.66 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนแบ่งกำไรจากโรงไฟฟ้า BLCP คิดเป็นจำนวน 9.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งปรับลดลงเนื่องจากโรงไฟฟ้าหยุดทำการซ่อมบำรุงตามแผนในไตรมาสนี้ โรงไฟฟ้าหงสายังคงอยู่ในช่วงต้นของการดำเนินการเชิงพาณิชย์จากทั้ง 3 หน่วยผลิต โดยมีส่วนแบ่งกำไรจำนวน 2 ล้านเหรียญสหรัฐ บริษัทฯ มีรายได้จากการขายไฟฟ้า ไอน้ำและอื่นๆ คิดเป็นร้อยละ 7 ของรายได้รวม หรือเป็นจำนวน 42 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมาจากการขายไฟฟ้าและไอน้ำจากโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมเจิ้งติ้ง หลวนหนาน และโจวผิง รวมทั้งสิ้น 28.56 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้รายได้จากธุรกิจก๊าซในสหรัฐอเมริกา ยังได้ถูกนำมารวมเป็นส่วนหนึ่งของผลการดำเนินงานของกลุ่มบริษัทตั้งแต่ไตรมาสนี้ โดยมีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี และค่าเสื่อมราคา (EBITDA) 2.7 ล้านเหรียญสหรัฐ
สำหรับบ้านปู เพาเวอร์ฯ หลังจากได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไปในไตรมาส 3/2559 ได้รายงานผลการดำเนินงานสำหรับไตรมาสดังกล่าว คิดเป็นกำไรสุทธิ 489 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนหน้าที่มีผลกำไรสุทธิ 96 ล้านบาท โดยเป็นผลมาจากการเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ครบทุกหน่วยการผลิตของโรงไฟฟ้าหงสาในสปป.ลาว กำไรจากการดำเนินงานก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมและค่าใช้จ่ายตัดจ่าย (EBITDA) สำหรับไตรมาสนี้คิดเป็น 876 ล้านบาท เปรียบเทียบกับ 644 ล้านบาทในปีที่แล้ว หรือ เพิ่มขึ้นร้อยละ 36
“ในช่วงไตรมาส 3/2559 บ้านปูฯ ได้รับการคัดเลือกให้เป็นบริษัทชั้นนำในกลุ่มดัชนีความยั่งยืนของดาวโจนส์ (Dow Jones Sustainability Indices หรือ DJSI) ร่วมกับ RobecoSAM เป็นครั้งที่สาม ซึ่งเป็นเครื่องตอกย้ำให้เรามุ่งมั่นที่จะสานต่อแผนการดำเนินธุรกิจเพื่อการเติบโตอย่างสมดุลและยั่งยืนอย่างแท้จริงต่อไป เรายังคงเดินหน้าสร้างความแข็งแกร่งในธุรกิจต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำของกลุ่มบ้านปูฯ อาทิ การเพิ่มประสิทธิภาพและควบคุมต้นทุนการผลิตถ่านหิน เพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดีเมื่อภาวะราคาถ่านหินปรับตัวขึ้นอย่างคงที่ในอนาคต ควบคู่ไปกับการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าต่างๆ ของบ้านปู เพาเวอร์ฯ เพื่อขยายกำลังการผลิตให้ได้ตามเป้าหมาย รวมถึงมองโอกาสลงทุนในธุรกิจด้านพลังงานอย่างครบวงจรตามกลยุทธ์การเติบโตอย่างยั่งยืนและสมดุล และสร้างมูลค่าให้แก่ผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อไปอย่างมั่นคง” นางสมฤดี กล่าวปิดท้าย
ข่าวเด่น