นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า วันลอยกระทงเป็นเทศกาลไทยมาแต่โบราณ จัดขึ้นเพื่อแสดงความเคารพต่อพระแม่คงคา หรือแม่น้ำ สายน้ำ ที่คนไทยใช้อุปโภคบริโภค ลอยกระทงในปีนี้ตรงวันจันทร์ที่ 14 พ.ย. 59 กรุงเทพมหานครยังคงจัดงานลอยกระทงตามประเพณี แต่ขอความร่วมมืองดจัดงานรื่นเริง ห้ามจุดพลุและดอกไม้ไฟ กทม. จะเน้นการจัดงานตามประเพณี และเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ลอยกระทงเพื่อแสดงความอาลัยต่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพื่อให้เหมาะกับสถานการณ์พระราชพิธี ในส่วนของสถานที่ที่เคยจัดงานลอยกระทงในทุกๆ ปี เช่น บริเวณสะพานพระราม 8 เขตบางพลัด คลองผดุงกรุงเกษม เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย และบริเวณคลองโอ่งอ่าง เขตสัมพันธวงศ์ จะยังเปิดให้ลอยกระทงเหมือนเดิม แต่ไม่มีการจัดงานเหมือนที่ผ่านมา สำหรับการจัดงานประเพณีลอยกระทงประจำปี 2559 ในกรุงเทพมหานคร โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กำหนดจัดงานที่สวนสันติชัยปราการ ตั้งแต่เวลา 16.00–24.00 น.
อย่างไรก็ตามสิ่งที่เหลือจากเทศกาลลอยกระทงมีแต่จะเพิ่มขึ้นทุกปี นั่นก็คือ “ขยะ” ขยะจากเทศกาลลอยกระทง ถือเป็นปัญหาหนึ่งที่สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร ที่จะต้องรับผิดชอบในการกำจัดขยะเหล่านี้ทุกปี ซึ่งสถิติการจัดเก็บในปี 2558 สถิติการจัดเก็บกระทง รวมทั้งสิ้น 825,614 ใบ ส่วนใหญ่ทำจากวัสดุธรรมชาติมากถึง 754,587 ใบ คิดเป็นร้อยละ 91.4 กระทงที่ทำจากโฟมมีเพียง 71,027 ใบ คิดเป็นร้อยละ 8.6
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวต่อไปว่า การจัดเก็บกระทงในพื้นที่ต่างๆ ในกรุงเทพฯ นั้น การจัดเก็บกระทงในคูคลอง และบึงรับน้ำ เป็นของสำนักการระบายน้ำ ส่วนสำนักงานเขตจัดเก็บกระทงในสวนสาธารณะ และพื้นที่จัดงานในเขต และสำนักสิ่งแวดล้อมรับผิดชอบในการเก็บกระทงในแม่น้ำเจ้าพระยา เริ่มตั้งแต่สะพานพระราม 7 ถึงบริเวณวัดโยธินประดิษฐ สุดเขตบางนา ระยะทางประมาณ 34 กิโลเมตร โดยได้จัดกำลังเจ้าหน้าที่ในการจัดเก็บกระทงครั้งนี้ จำนวน 210 คน ใช้เรือเก็บขน จำนวน 45 ลำ ติดตั้งไฟส่องสว่างทุกลำ เรือกำจัดขยะและวัชพืชสำหรับบดอัดกระทงให้มีขนาดเล็กลง จำนวน 3 ลำ โดยจอดที่ท่าอรุณอัมรินทร์ เรือขนขยะ 2 ลำ และรถบรรทุกเทท้าย จำนวน 9 คัน ในการลำเลียงกระทงไปส่งที่สถานีขนถ่ายมูลฝอยหนองแขม ซึ่งจะเริ่มปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่เวลา 20.00 น. ของวันที่ 14 พ.ย. 59 จนถึงเวลา 12.00 น. ของวันที่ 15 พ.ย. 59 โดยแบ่งการจัดเก็บกระทง เป็น 2 โซน คือ โซนบน ตั้งแต่สะพานพระราม 7 ถึงสะพานกรุงเทพฯ และโซนล่าง ตั้งแต่สะพานกรุงเทพฯ ถึงสุดเขตบางนา โดยลำเลียงกระทง ที่จัดเก็บได้ขึ้น 2 จุด คือ ท่าอรุณอัมรินทร์ เขตบางกอกน้อย และท่าคลังสินค้า กระทรวงพาณิชย์ เขตราษฎร์บูรณะ
ในการจัดเก็บกระทงในครั้งนี้จะมีการแยกกระทงที่ผลิตจากวัสดุธรรมชาติ นำไปเป็นวัตถุดิบหมักทำปุ๋ย โดยส่งไปที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม ส่วนกระทงที่ทำจากโฟมจะรวบรวมและประสานบริษัทนำไปรีไซเคิล ซึ่งคาดว่าในปีนี้กระทงโฟมจะมีปริมาณลดลง เพราะกรุงเทพมหานครได้มีการรณรงค์ประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องให้ประชาชนหันมาใช้กระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ หรือวัสดุที่ย่อยสลายได้ง่าย เช่น กระทงที่ทำจากหยวกกล้วย ใบตอง แป้งมันสำปะหลัง ชานอ้อย ซึ่งจะเป็นการช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอีกทางหนึ่งด้วย เท่าที่ผ่านมานั้น กระทงทำจากวัสดุธรรมชาติจะมีปริมาณเพิ่มขึ้นทุกปี
ข่าวเด่น