สสว. เผยความคืบหน้าเปิดร้านค้าประชารัฐสุขใจ ทยอยเปิดไปแล้ว 143 แห่ง ในปั๊มปตท. ทั่วประเทศ ดำเนินการได้เต็มรูปแบบ 30 แห่ง มีรายได้เพียงพอเลี้ยงตัวเองได้เฉลี่ยเดือนละ 42,000 บาท จะช่วยสร้างรายได้ให้วิสาหกิจชุมชน จำนวน 6,000 ราย รวมเป็นประชากรที่ได้รับประโยชน์ทั้งสิ้น 70,000 ราย ในทุกจังหวัดทั่วประเทศ
เมื่อ 14 พฤศจิกายน 2559 นางสาลินี วังตาล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า ตามที่ สสว. และหน่วยงานภาคี 4 แห่ง ได้แก่ กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย (พช.) การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.หรือ SME Bank) ร่วมกันจัดตั้ง "ร้านค้าประชารัฐสุขใจ" ในปั๊มน้ำมัน ปตท. ทุกจังหวัดทั่วประเทศ รวม 148 แห่ง โดยคณะกรรมการ สสว. ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานได้อนุมัติงบประมาณ 100ล้านบาท เพื่อสนับสนุน การบริหารจัดการร้านค้าประชารัฐทั้ง 148 แห่ง รวมทั้งการปรับปรุงรูปแบบสินค้า ของวิสาหกิจชุมชน และ OTOP ที่จะนำมาวางจำหน่ายในร้านค้าประชารัฐด้วย ขณะนี้ มีความคืบหน้าดังนี้
สสว. และกรมพัฒนาชุมชนได้รับมอบร้านค้าที่สร้างเสร็จแล้วจาก ททท. และได้ทยอยเปิดตัวร้านค้าประชารัฐไปแล้วจำนวน 143 แห่ง จากจำนวนที่ตั้งเป้าไว้ 148 แห่ง ในสถานีบริการน้ำมันของปตท. โดยอีก 5 แห่ง คือในเขตกรุงมหานคร ซึ่งขณะนี้ อยู่ระหว่างทยอยเปิดตัวร้านค้า สำหรับสินค้าที่จำหน่ายในร้านค้าประชารัฐสุขใจ นั้น สสว. ร่วมกับกรมพัฒนาชุมชน และผู้ว่าราชการจังหวัด ได้คัดเลือกสินค้าที่เป็นเอกลักษณ์เด่นของแต่ละจังหวัด เพื่อนำมาวางขายในร้านค้าประชารัฐสุขใจ ประจำจังหวัดนั้นๆ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเสริมสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนอย่างยั่งยืน สำหรับสินค้าที่ยังไม่ผ่านการคัดเลือก เพราะอาจมีข้อจำกัดด้านคุณภาพของตัวสินค้า หรือPackaging สสว. จะช่วยประสานงานกับมหาวิทยาลัยในพื้นที่ เพื่อจัดหานวัตกรรมมาปรับปรุงตัวสินค้า ในกรณีที่เป็น Packaging สสว.ก็จะประสานงานให้ ศูนย์ออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ของกระทรวงอุตสาหกรรม เข้ามาช่วยปรับปรุง โดยมีธนาคาร SME สนับสนุนด้านการเงินให้แก่ ชุมชนที่ต้องการเงินทุนหมุนเวียน เพื่อผลิตหรือปรับปรุงมาตรฐานสินค้า สสว. และ พช. ได้ฝึกสอนชุมชนในเรื่องบริหารจัดการร้านค้า และจัดหาบุคลากรจากชุมชนมาทำหน้าที่ขายสินค้า โดยทั้ง 2 หน่วยงานจะช่วยดูแลร้านค้าประชารัฐเป็นเวลา 3 ปี เมื่อร้านมีความมั่นคงแข็งแรงแล้วก็จะส่งคืนให้ชุมชนในแต่ละจังหวัดเป็นเจ้าของต่อไป
คาดว่าร้านค้าประชารัฐสุขใจ จะสร้างรายได้ให้วิสาหกิจชุมชน จำนวน 6,000 ราย เป็นจำนวนประชากรที่ได้รับประโยชน์ทั้งสิ้น 70,000 ราย ในจำนวนร้านค้าประชารัฐที่ทยอยเปิดตัวไปแล้ว 143 แห่ง มีอยู่ 30 แห่ง ที่สามารถดำเนินการได้เต็มรูปแบบ ซึ่งอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 12 แห่ง ภาคเหนือ 9 แห่ง ภาคตะวันออก 6 แห่ง ภาคกลางและใต้รวมกัน 3 แห่ง ร้านค้าเหล่านี้มียอดขายที่เพียงพอเลี้ยงตัวเองได้ คือ เฉลี่ยเดือนละ 42,000 บาทต่อเดือน สสว. และ พช. อยู่ระหว่างพยายามขยาย ช่องทางการจัดจำหน่ายของร้านค้าประชารัฐสุขใจ เช่น การจัดกระเช้าปีใหม่ และการส่งเสริมการจำหน่ายทาง Online เป็นต้น
ข่าวเด่น