เมื่อวันที่ 14 พ.ย. 59 กระทรวงแรงงานร่วมมือกับหอการค้าไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยพร้อมด้วยสภาหอการค้าต่างประเทศ ร่วมหารือและสร้างความเข้าใจต่อมาตรการและกฎหมายต่างๆ ที่กระทรวงแรงงานได้ออกประกาศในประเด็น ได้แก่ แนวทางการปฏิบัติสำหรับกิจกรรมที่ไม่เข้าข่ายเป็นการทำงานตามพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 จัดทำช่องทางการจ่ายเงินสมทบประกันสังคมผ่านระบบอินเทอร์เน็ต e-payment ประกาศการจัดทำข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้าง และการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ปี 2560
หม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า กระทรวงแรงงาน ได้ร่วมมือกับหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย โดยเชิญหอการค้าต่างประเทศเข้ามาร่วมหารือและสร้างความเข้าใจต่อมาตรการและกฎหมายต่างๆ ที่กระทรวงแรงงานได้ออกประกาศ ในประเด็นดังนี้
1) แนวทางการปฏิบัติสำหรับกิจกรรมที่ไม่เข้าข่ายเป็นการทำงานตามพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 โดยกระทรวงแรงงาน กำหนดแนวทางการปฏิบัติสำหรับกิจกรรมที่ไม่เข้าข่ายเป็นการทำงานตามพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 เพื่อให้เกิดความชัดเจนเกี่ยวกับกรณีคนต่างด้าวที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง เพื่อดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการค้าและการลงทุน โดยกิจกรรมที่ไม่เข้าข่ายเป็นการทำงานตามพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 ประกอบด้วย กิจกรรมการเข้าร่วมประชุมหรือสัมมนา การเข้างานนิทรรศการหรืองานแสดงสินค้า การเข้ามาเยี่ยมชมธุรกิจหรือพบปะเจรจาธุรกิจ การเข้ารับฟังการบรรยายพิเศษและวิชาการ การเข้าฟังการบรรยายในการอบรมและสัมมนาทางด้านเทคนิค การซื้อสินค้าในงานแสดงสินค้า และกิจกรรมการเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการบริษัทของตน ตามประกาศของกรมการจัดหางาน 2) จัดทำช่องทางการจ่ายเงินสมทบประกันสังคมผ่านระบบอินเทอร์เน็ต e-payment เพื่อความสะดวกรวดเร็ว ประหยัดเวลา และค่าใช้จ่ายแก่นายจ้างและสถานประกอบการ ผ่านระบบอินเตอร์เน็ต www.sso.go.th และแจ้งหักบัญชีเงินฝากธนาคารของนายจ้างหรือสถานประกอบการเพื่อชำระเงินสมทบ
นอกจากนี้ยังสามารถขึ้นทะเบียนผู้ประกันตน การแจ้งเข้าทำงาน การแจ้งลาออก การแจ้งเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงผู้ประกันตน ซึ่งเมื่อนายจ้างงทะเบียนผ่านระบบเรียบร้อยแล้ว จะได้รับ user และ password ให้สามารถเข้าใช้บริการได้ทันที 3) ประกาศการจัดทำข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้าง ด้วย พรบ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 และ 4) การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ปี 2560 จากการที่คณะกรรมการค่าจ้าง ได้มีมติปรับค่าจ้างขั้นต่ำประจำปี 2560 เพิ่มอีก 5 – 10 บาท ทั่วประเทศ โดยแบ่งเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ค่าจ้างคงเดิม 300 บาทต่อวัน จำนวน 8 จังหวัด กลุ่มที่ปรับขึ้น 10 บาทต่อวัน จำนวน 7 จังหวัด กลุ่มที่ปรับขึ้น 8 บาทต่อวัน จำนวน 13 จังหวัด และ กลุ่มที่ปรับขึ้น 5 บาทต่อวัน จำนวน 49 จังหวัด ซึ่งกระทรวงแรงงาน ได้พิจารณาอย่างรอบคอบ ด้วยปัจจัยตัวชี้วัดต่าง ๆ ซึ่งเป็นไปตามสภาพเศรษฐกิจของจังหวัดนั้น
ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงแรงงาน มุ่งหวังในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาแรงงานของประเทศไทยในทุกรูปแบบ โดยล่าสุดได้ออกพระราชกำหนดการนำเข้าแรงงานต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้าง พ.ศ.2559 เพื่อจัดระเบียบบริษัทจัดหางานตามนโยบายของรัฐบาล และเป็นมาตรการในการดูแล ควบคุม ป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชนและป้องกันการค้ามนุษย์โดยจัดให้มีการควบคุมผู้เข้ามาทำหน้าที่ และมีหลักประกันการส่งกลับประเทศต้นทางอย่างมีประสิทธิภาพ
ด้าน ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เมื่อต้นปี 2559 หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้ดำเนินการจัดทำการสำรวจความคิดเห็นขอผู้ประกอบการสมาชิกหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย อันประกอบด้วย หอการค้าจังหวัด หอการค้าต่างประเทศ และสมาคมการค้าที่เป็นสมาชิกของสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ประมาณ 130 สมาคม โดยได้เห็นด้วยกับการปรับค่าจ้างขั้นต่ำตามสภาพเศรษฐกิจของแต่ละจังหวัด พร้อมทั้ง กำหนดและตรวจสอบให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแก่ลูกจ้างที่ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานนั้น การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ปี 2560 ถือว่ามีความเหมาะสม เพราะแต่ละจังหวัดมีต้นทุนทางเศรษฐกิจไม่เท่ากัน มีพื้นฐานทางค่าครองชีพ การเติบโตทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกันออกไป การพิจารณาปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ให้เหมาะสมแต่ละพื้นที่ถือเป็นเรื่องที่ดี เพื่อให้ผู้ประกอบการปรับตัวได้ตามความเหมาะสมและแรงงานก็มีโอกาสมีรายรับเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ กระทรวงแรงงาน ยังร่วมมือกับ หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและภาคเอกชนด้านแรงงาน(กรอ.รง.) เพื่อทำหน้าที่พิจารณาและเสนอแนะแนวทางและมาตรการต่อกระทรวงแรงงาน รวมทั้งให้ภาคเอกชนร่วมกับภาครัฐในการขับเคลื่อนการส่งเสริมและแก้ไขปัญหาแรงงานของประเทศได้ในภาพรวม
ด้าน นายสุรงค์ บูลกุล รองประธานกรรมการ หอการค้าไทย กล่าวว่า จากการประชุมและประชาสัมพันธ์กับหอการค้าต่างประเทศ ถึงเรื่องกิจกรรมที่ไม่เข้าข่ายเป็นการทำงานตามพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 ใน 7 ประเภทกิจกรรม และประกาศการจัดทำข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้าง ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ซึ่งหอการค้าต่างประเทศ ได้รับทราบและมีความเข้าใจในประกาศกิจกรรมที่ไม่เข้าข่ายฯ และประกาศการจัดทำข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้างมากยิ่งขึ้น โดย หอการค้าต่างประเทศ จะช่วยประชาสัมพันธ์ไปถึงนักธุรกิจหรือนักลงทุนต่างประเทศถึงเรื่องดังกล่าว ทั้งนี้ ในอนาคตข้อมูลต่างๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกับนักธุรกิจต่างประเทศหรือหอการค้าต่างประเทศ ทั้งนี้ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย จะร่วมมือกับกระทรวงแรงงานในการดำเนินการประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทาง Social Network ของหอการค้าไทยและกระทรวงแรงงาน เพื่อให้ข้อมูลได้เข้าถึงสมาชิกได้อย่างรวดเร็วและยังจะเป็นการช่วยส่งเสริมการลงทุนของประเทศไทยมากยิ่งขึ้น
ข่าวเด่น