พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้ พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ ๒๔ ณ กรุงลิมา สาธารณรัฐเปรู ระหว่างวันที่ ๑๙ – ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๙ และในช่วงเวลาเดียวกัน (17 – 18 พฤศจิกายน 2559) นายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ และนายวินิจฉัย แจ่มแจ้ง ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ มีกำหนดเดินทางเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีเอเปค ครั้งที่ ๒๘ ด้วย
การประชุมเอเปค ประจำปี ๒๕๕๙ จะจัดขึ้นภายใต้หัวข้อหลัก “การเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพ และการพัฒนามนุษย์” (Quality Growth and Human Development) โดยจะเน้นประเด็นสำคัญ (Priorities) ๔ ประการ ได้แก่ (๑) การขับเคลื่อนการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาคและการเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพ (๒) การส่งเสริมตลาดอาหารในภูมิภาค (๓) การก้าวไปสู่ความทันสมัยของวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อมและรายย่อยในเอเชีย-แปซิฟิก และ (๔) การพัฒนาทุนมนุษย์
การเข้าร่วมการประชุมเอเปคในปีนี้มีความสำคัญต่อไทยเป็นอย่างยิ่ง โดยนอกจากไทยจะสนับสนุนประเด็นด้านการค้าการลงทุน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการบรรลุเป้าหมายโบกอร์ (Bogor Goals) อาทิ การจัดตั้งเขตการค้าเสรีเอเชีย -แปซิฟิก (FTAAP) และการจัดทำ APEC Services Competitiveness Roadmap (ค.ศ. ๒๐๑๖-๒๐๒๕) แล้วไทยจะได้มีโอกาสแสดงบทบาทนำในการผลักดันประเด็นด้านการพัฒนา เช่น ความมั่นคงทางอาหาร การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน รวมถึงการพัฒนาศักยภาพมนุษย์ด้วย ซึ่งประเด็นเหล่านี้ล้วนมีความสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ ปี ค.ศ. ๒๐๓๐
เพื่อสนับสนุนประเด็นด้านการค้าการลงทุน ในปี 2559 ไทยได้ดำเนินการร่วมกับเปรู ภายใต้กรอบเอเปค ในการผลักดันการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อยสีเขียว หรือ “Greening Micro, Small and Medium Enterprises - MSMEs” โดยมีเป้าหมายเพื่อผลักดันให้ผู้นำเอเปครับรอง “APEC Strategy for Green and Sustainable MSMEs” ในปี ๒๕๖๐ ผ่านการจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องช่วงเดือนกรกฎาคม ๒๕๕๙ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงการต่างประเทศกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าว ได้รับการชื่นชมเป็นอย่างมากในที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปคครั้งที่ ๓ จากเขตเศรษฐกิจสมาชิกเอเปค โดยเฉพาะบรูไนดารุสซาลาม จีน ฮ่องกง อินโดนีเซีย เปรู ฟิลิปปินส์ สหรัฐอเมริกา และเวียดนาม นอกจากนี้ ไทยได้มีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้ขยายระยะเวลาของ “APEC Education Strategy” จากปี ๒๕๖๓ (ค.ศ. ๒๐๒๐) ให้สิ้นสุดลงในปี ๒๕๗๓ (ค.ศ. ๒๐๓๐) เพื่อให้สอดคล้องกับปฏิญญาอินชอนว่าด้วยการศึกษาขององค์การ UNESCO อีกด้วย
ในโอกาสเดียวกัน การเข้าร่วมการประชุมเอเปคของไทย ยังถือเป็นโอกาสสำคัญต่อไทยในการนำแนวปฏิบัติต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ของเอเปค/ธนาคารโลก ในเรื่องการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ (Ease of Doing Business - EoDB) มาปรับใช้ในการปรับปรุงบริการของภาครัฐให้เอื้อต่อการประกอบธุรกิจของนักลงทุนมากยิ่งขึ้น รวมทั้งเพื่อผลักดันให้อันดับของไทยตามรายงาน Doing Business ของธนาคารโลกเพิ่มขึ้นด้วย ทั้งนี้ จากการนำแนวปฏิบัติที่เป็นประโยชน์ต่าง ๆ มาใช้ ทำให้ไทยสามารถขึ้นสู่ลำดับที่ ๔๖ จากทั้งหมด ๑๙๐ ประเทศ ในรายงาน Doing Business ๒๐๑๗ โดยเพิ่มขึ้น ๓ อันดับจากปีก่อนหน้า
อนึ่ง การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค และการประชุมรัฐมนตรีเอเปค จัดขึ้นมาแล้วกว่า ๒๕ ปี และได้รับความสนใจจากผู้นำของสมาชิกเอเปค ทั้งหมด ๒๑ เขตเศรษฐกิจ อย่างต่อเนื่อง โดยการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปค ปี ๒๕๕๙ ของเปรูนั้น ถือเป็นครั้งที่ ๒ (ครั้งแรก เมื่อปี ๒๕๕๑) ด้านไทยจะเป็นเจ้าภาพเอเปคอีกครั้งหนึ่งในปี ๒๕๖๕ ต่อจากเวียดนาม (๒๕๖๐) ปาปัวนิวกินี (๒๕๖๑) ชิลี (๒๕๖๒) มาเลเซีย (๒๕๖๓) และนิวซีแลนด์ (๒๕๖๔)
ข่าวเด่น