ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 15 พ.ย. มีมติเห็นชอบการดำเนินมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60 ด้านการผลิต (เพิ่มเติม) : การปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าว ปี 2559/60 รอบที่ 2 จำนวน 2 โครงการ ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ และคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ได้เห็นชอบแล้ว ดังนี้
1. โครงการปลูกพืชปุ๋ยสด ดำเนินการโดยกรมพัฒนาที่ดิน
2. โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ดำเนินการโดยกรมส่งเสริมการเกษตร
สาระสำคัญของมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปี 2559/60 ด้านการผลิต (เพิ่มเติม) : การปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าว ปี 2559/60 รอบที่ 2 จำนวน 2 โครงการ สรุปได้ดังนี้
1) โครงการปลูกพืชปุ๋ยสด มีวัตถุประสงค์ เพื่อลดพื้นที่การปลูกข้าวในฤดูนาปรัง ปี 2560 เพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์พืชปุ๋ยสด และเพื่อปรับปรุงบำรุงดินโดยใช้พืชปุ๋ยสด ดำเนินการในพื้นที่ 19 จังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยา จำนวน 200,000 ไร่ ประกอบด้วยจังหวัดสมุทรปราการ นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง ลพบุรี สิงหบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม ชัยนาท สระบุรี นครนายก อุตรดิตถ์ นครสวรรค์ กำแพงเพชร ตาก สุโขทัย พิษณุโลก และพิจิตร
วิธีดำเนินการ ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชปุ๋ยสด เพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์ขายคืนให้กรมพัฒนาที่ดิน จำนวน 50,000 ไร่ และสนับสนุนเกษตรกรปลูกพืชปุ๋ยสด เพื่อไถกลบ จำนวน 150,000 ไร่ โดยสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ต้นทุนให้แก่เกษตรกร ไร่ละ 5 กิโลกรัม รายละไม่เกิน 20 ไร่ และสนับสนุนค่าไถเตรียมดินครั้งแรกให้เกษตรกร ไร่ละ 500 บาท (200,000 ไร่) และค่าไถกลบเฉพาะพื้นที่ที่ปลูกและไถกลบพืชปุ๋ยสดไร่ละ 500 บาท (150,000 ไร่) ซึ่งกรมพัฒนาที่ดินจะรับซื้อเมล็ดพันธุ์พืชปุ๋ยสดคืนจากเกษตรกร จำนวน 6,000 ตัน ในราคากิโลกรัมละ 20 บาท ระยะเวลาดำเนินการ ตุลาคม 2559 – พฤษภาคม 2560
2) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มีวัตถุประสงค์ เพื่อลดพื้นที่และผลผลิตข้าว เพิ่มพื้นที่ และผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวได้เรียนรู้การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ฤดูแล้งในพื้นที่นาหลังการเก็บเกี่ยวข้าวนาปี นำไปสู่การปรับระบบการปลูกข้าวที่ถูกต้อง มั่นคง และยั่งยืน รวมถึงให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทดแทนการปลูกข้าวที่ให้ผลตอบแทนต่ำกว่า ดำเนินการในพื้นที่ 35 จังหวัด จำนวน 2,000,000 ไร่ ในพื้นที่เหมาะสมในการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มาก พื้นที่เหมาะสมในการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปานกลาง ในเขตชลประทาน หรือแหล่งน้ำอื่นที่มีน้ำตลอดการเพาะปลูก ที่เกษตรกรเคยปลูกข้าวนาปรังอย่างน้อย 1 ปี ในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา (ปี 2555/56 – 2558/59) รวมทั้งมีแหล่งน้ำเพียงพอตลอดฤดูปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (500-700 ลูกบาศก์เมตรต่อไร่) โดยความร่วมมือของภาคเอกชน ภาครัฐ และ ธ.ก.ส.
วิธีดำเนินการ ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แก่เกษตรกร ไร่ละ 4,000 บาท ผ่านบัญชี ธ.ก.ส. ซึ่งธนาคาร คิดดอกเบี้ยในอัตรา MRR (ปัจจุบันเท่ากับร้อยละ 7 ต่อปี) โดยเรียกเก็บจากเกษตรกรในอัตรา ร้อยละ 4 ต่อปี และรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้ ธ.ก.ส. ในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี ตลอดระยะเวลาโครงการ และภาคเอกชนที่เข้าร่วมโครงการ รับซื้อผลผลิตผ่านสหกรณ์การเกษตรเพื่อตลาดลูกค้า ธ.ก.ส. หรือสหกรณ์การเกษตร หรือเครือข่ายเกษตรกรของภาคเอกชนในท้องถิ่น โดยรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ชนิดเมล็ด กิโลกรัมละไม่ต่ำกว่า 8 บาท
ข่าวเด่น