กระทรวงพลังงาน หนุนงบกว่า 20 ล้านบาท สานพลังประชารัฐ ยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชน ส่งเสริมผลิตพลังงานทดแทน ลดรายจ่าย สร้างรายได้ครัวเรือน
กระทรวงพลังงาน เดินหน้าขับเคลื่อนโครงการประชารัฐตามนโยบายรัฐบาล ส่งเสริมการผลิตพลังงานทดแทนในระดับชุมชน 6 ประเภท ได้แก่ พลังงานแสงอาทิตย์ ชีวมวล น้ำ ลม ก๊าซชีวภาพ และขยะ ในระดับชุมชนทั่วประเทศ จำนวน 26 โครงการ ซึ่งชุมชนต้องร่วมลงทุนบางส่วน ภายใต้งบประมาณสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน กว่า 20 ล้านบาท สอดรับเป้าหมายแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ.2558-2579
นายธรรมยศ ศรีช่วย รองปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลภายใต้การนำของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มีนโยบายในการเดินหน้าขับเคลื่อนประเทศโดยใช้ยุทธศาสตร์ประชารัฐ ซึ่งจะเป็นการรวมพลังของภาคประชาชน ภาคธุรกิจ และภาครัฐ ในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ สังคม และขับเคลื่อน การพัฒนาชุมชน ท้องถิ่น เพื่อให้ประเทศชาติเจริญก้าวหน้าอย่างมั่นคงและยั่งยืน ในส่วนของ กระทรวงพลังงาน ได้ดำเนินโครงการต่างๆ ตามนโยบายประชารัฐ ด้วยการส่งเสริมการผลิตพลังงานทดแทน ในระดับชุมชนภายใต้งบประมาณสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานสำหรับพัฒนาพื้นที่ต้นแบบด้านพลังงานทดแทน โดยให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ ร่วมดำเนินการ โดยเป็นเจ้าของโครงการพลังงานทดแทนที่มุ่งเน้นการนำทรัพยากรและสิ่งเหลือใช้ในท้องถิ่นมาแปลงเป็นพลังงาน เพื่อลดรายจ่าย สร้างรายได้ให้กับชุมชน และยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
โดยโครงการดังกล่าว กระทรวงพลังงานให้การสนับสนุนงบประมาณ 30-70% ส่วนที่เหลือชุมชนจะออกงบประมาณเอง ปัจจุบันมีชุมชนจากทั่วประเทศเข้าร่วม จำนวน 26 โครงการ ดำเนินการแล้วเสร็จทุกโครงการประกอบด้วย 6 ประเภทพลังงานทดแทน รวมกำลังการผลิต 931 กิโลวัตต์ ได้แก่
ประเภทพลังงานแสงอาทิตย์ จำนวน 7 โครงการ วงเงินสนับสนุน จำนวนรวม 3.24 ล้านบาท กำลังการผลิตเทียบเท่ารวม 73 กิโลวัตต์ อาทิ โครงการพัฒนาโรงอบเยื่อไผ่ด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ โดย มูลนิธิพัฒนาชุมชนผาปัง จ.ลำปาง กำลังการผลิตเทียบเท่า 16 กิโลวัตต์ มูลค่าโครงการ 774,000 บาท กระทรวงพลังงานสนับสนุน 70% เป็นเงิน 541,800 บาท และโครงการแปรรูปมะม่วงอบแห้งโดยโรงอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ โดย องค์การบริหารส่วนตำบลอบทม จ.อ่างทอง กำลังการผลิตเทียบเท่า 5 กิโลวัตต์ มูลค่าโครงการ 600,300 บาท กระทรวงพลังงานสนับสนุนงบประมาณ จำนวน 420,210 บาท คิดเป็น 70% เป็นต้น
ประเภทพลังงานชีวมวล จำนวน 3 โครงการ วงเงินสนับสนุนรวม 4.75 แสนบาท กำลังการผลิตเทียบเท่ารวม 362 กิโลวัตต์ อาทิ โครงการเปลี่ยนของเสียจากกระบวนการผลิตเป็นแหล่งพลังงานในโรงแปรรูปเมล็ดมะม่วงหิมพานต์และชาสมุนไพร โดย สหกรณ์กรีนเนท จำกัด จ.ยโสธร กำลังการผลิต 17 กิโลวัตต์ มูลค่าโครงการ 880,807 บาท กระทรวงพลังงานสนับสนุนงบประมาณ 30% เป็นเงินจำนวน 264,242 บาท เป็นต้น ประเภทพลังงานน้ำ จำนวน 3 โครงการ วงเงินสนับสนุนรวม 2.15 ล้านบาท กำลังการผลิตรวม 60 กิโลวัตต์ ได้แก่ โครงการผลิตไฟฟ้าจากกังหันน้ำในพื้นที่ชุมชนคีรีวงและตำบลกำโลน โดย กองทุนหมู่บ้าน คีรีธรรม จ.นครศรีธรรมราช กำลังการผลิต 60 กิโลวัตต์ มูลค่าโครงการ 3,842,000 บาท วงเงินสนับสนุน 2,148,960 บาท เป็นต้น
ประเภทพลังงานลม จำนวน 1 โครงการ วงเงินสนับสนุนจำนวนรวม 3.7 แสนบาท ผลิตพลังงานทดแทนรวมได้เท่ากับ 2 กิโลวัตต์ ได้แก่ โครงการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานลม โดย มูลนิธิสุข-แก้ว แก้วแดง จ.ยะลา (2 กิโลวัตต์) มูลค่าโครงการ 529,000 บาท วงเงินสนับสนุน 70% เป็นเงินจำนวน 370,300 บาท
ประเภทพลังงานก๊าซชีวภาพ จำนวน 10 โครงการ วงเงินสนับสนุนรวม 8.3 ล้านบาท กำลัง การผลิตเทียบเท่ารวม 194 กิโลวัตต์ อาทิ โครงการผลิตก๊าซชีวภาพจากมูลวัวเพื่อผลิตไฟฟ้า โดยมูลนิธิ สุข-แก้ว แก้วแดง จ.ยะลา กำลังการผลิต 12 กิโลวัตต์ มูลค่าโครงการ 2,566,000 บาท วงเงินสนับสนุน 1,539,600 บาท หรือ 60% และโครงการผลิตก๊าซชีวภาพจากน้ำเสียกระบวนการผลิตยางแผ่นรมควัน สหกรณ์พัฒนาคุณภาพยางพารา ต.ห้วยแร้ง จ.ตราด กำลังการผลิตเทียบเท่า 11 กิโลวัตต์ มูลค่าโครงการ 1,455,987 บาท วงเงินสนับสนุน 60% เป็นเงินจำนวน 873,592 บาท เป็นต้น
ประเภทพลังงานขยะ จำนวน 2 โครงการ วงเงินสนับสนุนรวม 6 ล้านบาท กำลังการผลิตรวม 240 กิโลวัตต์ ได้แก่ โครงการเพิ่มประสิทธิภาพระบบผลิตก๊าซชีวภาพจากพลังงานขยะ เพื่อขยายการใช้งานพลังงานทดแทนในภาคครัวเรือนบ้านป่าขามโดย กลุ่มเกษตรกรทำสวนบ้านตาล จ.เชียงใหม่ กำลังการผลิตเทียบเท่า 120 กิโลวัตต์ มูลค่าโครงการ 4,615,312 บาท วงเงินสนับสนุน 3,000,000 บาท หรือร้อยละ 65 และโครงการเพิ่มประสิทธิภาพระบบผลิตก๊าซชีวภาพจากพลังงานขยะ เพื่อขยายการใช้งานพลังงานทดแทน ในภาคครัวเรือน และภาคการเกษตรบ้านแม่ยุย โดย กลุ่มเกษตรกรทำสวนบ้านตาล จ.เชียงใหม่ กำลังการผลิตเทียบเท่า 120 กิโลวัตต์ มูลค่าโครงการ 5,097,497 บาท วงเงินสนับสนุน 60% เป็นเงินจำนวน 3,000,000 บาท
“โครงการส่งเสริมการผลิตพลังงานทดแทนในระดับชุมชน มุ่งเน้นการลดรายจ่ายด้านพลังงาน และช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่ชุมชน โดยการนำทรัพยากรหรือสิ่งเหลือใช้ในท้องถิ่นมาผลิตเป็นพลังงานทดแทน ซึ่งสอดคล้องกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการวางแผนและร่วมลงทุนกับภาครัฐ เรียกได้ว่าเป็นเป็นมิติใหม่ของการพัฒนาพลังงานอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยลดการพึ่งพาการนำเข้าเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ และยังสอดคล้องกับทิศทางของประเทศที่เดินหน้าขับเคลื่อนการพัฒนาพลังงานทดแทน ให้เป็นไปตามเป้าหมายของแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ.2558-2579 อีกด้วย” รองปลัดกระทรวงพลังงานกล่าว
นอกจากนี้ นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ รองโฆษกกระทรวงพลังงาน ได้กล่าวเสริมว่า เพื่อเป็นการสรุปบทเรียนจากการดำเนินโครงการส่งเสริมการผลิตพลังงานทดแทนข้างต้น ในโอกาสเดียวกันนี้ กระทรวงพลังงาน ได้สัมมนาเพื่อให้ชุมชนที่เข้าร่วมโครงการทั้ง 26 โครงการ และเจ้าหน้าที่กระทรวงพลังงาน ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ได้แลกเปลี่ยนขัอมูล ข้อคิดเห็น เกี่ยวกับปัจจัยที่ผลักดันให้สามารถสร้างชุมชนต้นแบบด้านพลังงานทดแทนได้ และประเด็นปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงาน เพื่อนำไปสู่การพัฒนารูปแบบการดำเนินโครงการในอนาคต และการขยายผลการส่งเสริมชุมชนในรูปแบบประชารัฐ ที่ให้ชุมชนร่วมลงทุนและเป็นเจ้าของโครงการ ซึ่งจะช่วยสร้างความยั่งยืนให้กับการพัฒนาโครงการด้านพลังงานทดแทนระดับชุมชนต่อไป
ข่าวเด่น