ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
กพร. เผยมาตรการกำกับดูแลเหมืองแร่เก่ากว่า 1,800 แห่งทั่วไทยเพื่อฟื้นฟูพื้นที่ภายหลังการปิดเหมือง


 


กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและเหมืองแร่ (กพร.) กระทรวงอุตสาหกรรม เผยมาตรการกำกับดูแลเหมืองแร่เก่า เพื่อการฟื้นฟูพื้นที่ที่ผ่านการทำเหมืองแล้วสามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ด้านอื่นได้อย่างยั่งยืน ภายใต้ข้อกำหนดสำคัญ คือ ความมั่นคงของพื้นที่ไม่มีความเสี่ยงจากการพังทลายการปนเปื้อนของสารเคมีในดิน น้ำ และสิ่งแวดล้อมต้องไม่เกินค่ามาตรฐาน และตั้งเป้าการฟื้นฟูให้สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ใกล้เคียงสภาพพื้นที่เดิมหรือเหมาะสมกับสภาพโดยรอบ  โดยการฟื้นฟูพื้นที่สามารถทำได้หลายรูปแบบตามความเหมาะสมของพื้นที่ อาทิ พื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยหรือสถานที่ราชการ พื้นที่สวนสาธารณะ แหล่งเก็บกักน้ำ เป็นต้น  โดยที่ผ่านมา กพร. ได้ดำเนินการฟื้นฟูพื้นที่เหมืองเก่ามากกว่า 10 แห่ง เพื่อเป็นต้นแบบด้านการปรับปรุงฟื้นฟูพื้นที่ของรัฐที่ผ่านการทำเหมืองแล้วเช่นโครงการสวนเฉลิมพระเกียรติจังหวัดภูเก็ต สวนเฉลิมพระเกียรตินวมินทราชินี จังหวัดระนอง โครงการฟื้นฟูธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่เหมืองแร่ เพื่อเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ 

นายสมบูรณ์ ยินดียั่งยืน รองอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ รักษาราชการแทนอธิบดี กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กล่าวว่า อุตสาหกรรมเหมืองแร่เป็นอุตสาหกรรมที่ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพของแร่ที่สามารถนำมาพัฒนาได้ โดยบางแห่งใช้พื้นที่บริเวณกว้าง ดังนั้น นอกจากการทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมแล้วการประกอบกิจการเหมืองแร่จะต้องทำแผนการฟื้นฟูเหมืองภายหลังการปิดเหมือง  โดยเฉพาะในปัจจุบันมีกระแสการตระหนักถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศและชุมชนมากขึ้น ทำให้การปิดเหมืองไม่ใช่แค่การยุติการขุดแร่  รื้อถอนเครื่องจักร รื้อถอนอาคารโรงงานเท่านั้น แต่หมายรวมถึงการพัฒนาพื้นที่ที่ผ่านการทำเหมืองแล้วให้สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน เพื่อให้ประชาชนและสังคมเชื่อมั่นว่าเหมืองที่ปิดตัวลงจะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ไม่เป็นอันตรายต่อชุมชน ทั้งด้านสุขอนามัยและความปลอดภัย ไม่ทำให้พื้นที่ของประเทศไร้ประโยชน์เมื่อไม่สามารถสร้างมูลค่าเชิงพาณิชย์ได้
 

นายสมบูรณ์ กล่าวต่อว่า สำหรับการวางแผนการปิดเหมือง คือ การกำหนดรายละเอียดการดำเนินการเพื่อฟื้นฟูพื้นที่และการรื้อถอน ซึ่งในการออกแบบนั้นต้องมีการวิเคราะห์ความเสี่ยง เช่น ความเสี่ยงจากการพังทลายของกองดิน และบ่อเหมืองซึ่งมีระบบการตรวจสอบการออกแบบโดยใช้มาตรฐานด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมเป็นตัวกำหนดต้องครอบคลุมผลด้านเศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม โดยต้องดำเนินการฟื้นฟูตั้งแต่ในระหว่างทำเหมืองไปถึงภายหลังการทำเหมืองจนกว่าพื้นที่จะกลับคืนสู่สภาพที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หรืออยู่ในสภาพที่เป็นที่ยอมรับของชุมชนและสังคมได้ โดยมีข้อกำหนดสำคัญที่มีผลต่อการจัดทำแผนปิดเหมือง 3 ประการ ได้แก่
 

1. ความมั่นคงของพื้นที่ ผู้ประกอบการต้องพิจารณาองค์ประกอบหลักของพื้นที่ อันได้แก่ ผนังบ่อเหมือง กองเศษดิน อุโมงค์หรือปล่องใต้ดิน บ่อเก็บกักตะกอน ทางระบายน้ำ และคลองผันน้ำ ที่ต้องมีความมั่นคงปลอดภัย ไม่มีความเสี่ยงจากการพังทลายหรือถูกกัดเซาะส่งผลกระทบต่อเนื่องอื่นๆ

2. การปนเปื้อนของสารเคมี การฟื้นฟูพื้นที่หลังการทำเหมือง จะต้องผ่านการวิเคราะห์การปนเปื้อนของสารเคมี ว่าต้องไม่มีสารตกค้างหรือปนเปื้อนในดิน น้ำ และสิ่งแวดล้อมเกินกว่าค่ามาตรฐานกำหนด เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

3. การตั้งเป้าหมายการฟื้นฟูพื้นที่หลังการทำเหมือง ซึ่งจะต้องฟื้นฟูให้สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ใกล้เคียงสภาพพื้นที่เดิมหรือสามารถเป็นประโยชน์อื่นที่เหมาะสมและเป็นที่ยอมรับมีทัศนียภาพและระบบนิเวศที่กลมกลืนกับสภาพโดยรอบ
 

นายสมบูรณ์ กล่าวต่อถึงขั้นตอนการวางแผนปิดเหมืองว่า แผนการปิดเหมืองจะต้องทำในระยะยาวตั้งแต่เริ่มต้นออกแบบเหมือง และมีการปรับปรุงอยู่เสมอ เพื่อให้มีการพิจารณาผลกระทบอย่างรอบด้าน โดยมีขั้นตอนดังนี้ ศึกษาสภาพแวดล้อม เพื่อให้ทราบถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นภายหลังการปิดเหมือง กำหนดนโยบายปิดเหมือง ให้มีความสอดคล้องกับลักษณะพื้นที่ และครอบคลุมด้านสิ่งแวดล้อม วิศวกรรม เศรษฐศาสตร์ กฎหมาย และชุมชน เลือกวิธีการปิดเหมือง ศึกษาความเป็นไปได้และประเมินวิธีการปิดเหมืองที่เหมาะสม พร้อมวิเคราะห์ความเสี่ยงและมีการปรับปรุงแผนเป็นระยะๆ เพื่อให้ได้วิธีที่ดีที่สุด จัดทำแผนการบำรุงรักษาพื้นที่ภายหลังการทำเหมือง และแผนการติดตามประเมินผลความสำเร็จของแผนการปิดเหมือง เพื่อการพัฒนาพื้นที่ให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน เปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อนำมาปรับปรุงแผนเป็นลำดับต่อไป อย่างไรก็ตาม การฟื้นฟูพื้นที่ภายหลังการปิดเหมืองให้สามารถกลับมาใช้ประโยชน์ได้หลายรูปแบบ อาทิ พื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยหรือสถานที่ราชการ  พื้นที่สวนสาธารณะสำหรับเป็นพื้นที่ออกกำลังกายของชุมชนหรือสถานที่ท่องเที่ยว แหล่งเก็บกักน้ำสาธารณะจากขุมเหมืองขนาดใหญ่  พื้นที่เพื่อการปลูกสวนป่าหรือการปลูกป่าทดแทน พื้นที่ฝังกลบขยะหรือสารพิษ เป็นต้น
 

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา กพร. ได้ดำเนินการฟื้นฟูพื้นที่เหมืองเก่ามากกว่า 10 แห่ง เพื่อเป็นต้นแบบด้านการปรับปรุงฟื้นฟูพื้นที่ของรัฐที่ผ่านการทำเหมืองแล้ว  โดยพิจารณาตามความเหมาะสมของพื้นที่และการใช้ประโยชน์ของชุมชน เช่น โครงการสวนเฉลิมพระเกียรติจังหวัดภูเก็ต สวนเฉลิมพระเกียรตินวมินทราชินี จังหวัดระนอง โครงการฟื้นฟูพื้นที่ที่ผ่านการทำเหมืองแล้ว เพื่องานวิจัยและแหล่งท่องเที่ยว บริเวณที่ราชพัสดุ หน้าอุทยานแห่งชาติน้ำตกหงาว จังหวัดระนอง โครงการฟื้นฟูธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่เหมืองแร่ เพื่อเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เป็นต้น ปัจจุบันมีเหมืองที่สิ้นอายุประทานบัตรแล้ว จำนวน 1,800 แห่ง จากจำนวนเหมืองที่ กพร. กำกับดูแลทั้งสิ้นกว่า 3,000 แห่ง อย่างไรก็ตาม การฟื้นฟูเหมืองภายหลังการปิดเหมืองจะต้องเป็นไปตามข้อกำหนดเพื่อมุ่งสร้างความเชื่อมั่นให้แก่สังคมและชุมชนว่าจะสามารถใช้ประโยชน์จากพื้นที่ภายหลังการทำเหมืองได้ โดยไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม นายสมบูรณ์ กล่าวทิ้งท้าย











 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 16 พ.ย. 2559 เวลา : 10:52:06

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 3:16 am