นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่าในปีนี้ กระทรวงพาณิชย์มีแผนขยาย การจัดตลาดนัดข้าวเปลือกทั่วประเทศเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 40
ในปีการผลิต 2559/60 กระทรวงพาณิชย์ โดยสำนักงานพาณิชย์จังหวัด ร่วมกับหน่วยราชการในจังหวัด จัดทำแผนการจัดตลาดนัดข้าวเปลือก โดยมีระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2559 – 31 มีนาคม 2560 รวม 127 ครั้งใน 52 จังหวัด มากขึ้นกว่าเดิมที่เคยจัดถึงร้อยละ 40 โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อช่วย เกษตรกรให้จำหน่ายข้าวเปลือกได้ในราคาที่สูงขึ้น เนื่องจาก การขายผ่านช่องทางปกติบางครั้งอาจจะได้ราคาที่ไม่เป็นธรรม
การจำหน่ายข้าวเปลือกของเกษตรกรที่มีการแข่งขันรับซื้อ จะทำให้เกษตรกรมีช่องทางเลือกในการ ขายข้าวเปลือกของตนเองมีอำนาจต่อรองในการขายสินค้าเกษตรมากขึ้น และมีแหล่งกลางในการซื้อขายข้าวเปลือกที่ให้ความเป็นธรรมทางด้านราคา การชั่งน้ำหนัก และการตรวจสอบคุณภาพสินค้าเกษตร นอกจากนี้ เกษตรกรจะได้รับความรู้ไปพัฒนายกระดับการซื้อขายได้อย่างเหมาะสม โดยทราบถึงวิธีการชั่งตวงวัด การตรวจสอบคุณภาพข้าวเปลือก และการปรับปรุงคุณภาพ ตลอดจนมีอำนาจต่อรองราคามากขึ้น และยังสามารถนำไปปรับปรุงคุณภาพข้าวเปลือกให้ได้ตรงกับความต้องการของตลาด
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กล่าวว่า พาณิชย์จังหวัดเองก็ต้องประสานงานกับหน่วยงานในพื้นที่เพื่อกระจายข้อมูลการจัดตลาดนัดนี้ให้โรงสีหลายๆแห่งและพ่อค้าทราบ เพื่อเข้าไปแข่งกันรับซื้อ โดยทั่วไปเกษตรกรที่นำข้าวเปลือกมาจำหน่ายที่ตลาดนัดข้าวเปลือกนี้ สามารถจำหน่ายข้าวเปลือกได้สูงกว่าราคาตลาดรับซื้อทั่วไป ตันละ 100 – 500 บาทหรือกว่านั้น
การจัดตลาดนัดข้าวเปลือก จะเริ่มตั้งแต่ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2559 ไล่ไปตามจังหวัดต่างๆ จัดครั้งละ1-3 วัน โดยประมาณ โดยจะเริ่มจาก ภาคเหนือ ภาคอิสาน ภาคกลาง และภาคใต้ กลุ่มเป้าหมาย คือ เกษตรกรในแหล่งผลิตพื้นที่ 52 จังหวัด รวมทั้งสิ้นประมาณ 127 ครั้ง โดยจะพิจารณาจาก แหล่งผลิตข้าวเปลือกจังหวัดหลัก ในพื้นที่ 19 จังหวัดๆ ละ 3 ครั้ง ตามความเหมาะสมประมาณ 57 ครั้ง ได้แก่ จังหวัดเชียงราย กำแพงเพชร พิษณุโลก พิจิตร นครสวรรค์ เพชรบูรณ์ อุดรธานี สกลนคร อุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด
ขอนแก่น นครราชสีมา ชัยนาท สุพรรณบุรี และพระนครศรีอยุธยา และ แหล่งผลิตข้าวเปลือกจังหวัดรอง ในพื้นที่ 33 จังหวัดๆ ละ 2 – 3 ครั้ง ตามความเหมาะสมประมาณ 68 ครั้ง ได้แก่ จังหวัดพะเยา เชียงใหม่ สุโขทัย อุตรดิตถ์ อุทัยธานี ลำพูน ตาก แพร่ น่าน หนองบัวลำภู หนองคาย นครพนม ยโสธร อำนาจเจริญ กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ เลย มุกดาหาร ลพบุรี อ่างทอง ปทุมธานี นครนายก ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา สระแก้ว นครปฐม ราชบุรี สระบุรี กาญจนบุรี เพชรบุรี นครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา
สำหรับการกำหนดพื้นที่ และเวลา ได้มีการเสนอแผนเข้ามาแล้ว โดยเป็นการบูรณาการงานระหว่าง พาณิชย์จังหวัดร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด และหน่วยงานในพื้นที่เป็นผู้พิจารณา หลักใหญ่คือจะจัดในช่วงระยะเวลาที่ผลผลิตออกสู่ตลาด เกษตรกรสามารถนำ ข้าวเปลือกมาจำหน่ายได้ทันในระยะเวลาที่เก็บเกี่ยว
ยกตัวอย่างที่ จังหวัดตากจัดที่อำเภอเมือง 28-30 พ.ย. อำเภอแม่ระมาด 7-9 ธ.ค. อำเภอแม่สอด 21-23 ธ.ค. จังหวัดนครราชสีมาจัดที่อำเภอประทาย 22-24 พย. จังหวัดยโสธร จัดที่อำเภอค้อวัง 15-17 พย. และอำเภอมหาชนะชัย 21-23 พย. อุบลราชธานี จัดที่อำเภอนาจรวย 22-24 พ.ย. อำเภอม่วงสามสิบ 7-9 ธ.ค. อำเภอศรีเชียงใหม่ 27-29 ธ.ค.
เกษตรกร พ่อค้า และโรงสี ที่อยู่ในจังหวัดเป้าหมาย และจังหวัดข้างเคียงสามารถติดต่อ พาณิชย์จังหวัดในจังหวัดของตนเพื่อรับทราบข้อมูลรายละเอียด และสถานที่พร้อมทั้งวันที่จัด เพื่อจะได้เข้าไปเจรจาซื้อ-ขายได้
สำหรับการกำกับดูแล กระทรวงพาณิชย์ กระทำอย่างโปร่งใส โดยมีคณะอนุกรรมการติดตามกำกับดูแลการบริหารจัดการข้าวระดับจังหวัด และคณะทำงานกำกับและควบคุมทุกขั้นตอน
ข่าวเด่น