ไทยขานรับวิกฤตโลกร้อนกระทบความมั่นคงอาหาร จับมือ เอฟ เอ โอ และ จ.เชียงราย จัดงาน "วันอาหารโลก"ระดับประเทศปี 59 ปลายเดือนนี้ เน้นขยายผลโครงการพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหา ภูมิพลอดุลยเดชฯ ในการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนและยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง
พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ เอฟ เอ โอ กำหนดให้วันที่ 16 ตุลาคมของทุกปี เป็น "วันอาหารโลก" และเชิญชวนประเทศสมาชิก 194 ประเทศทั่วโลก ร่วมจัดงานเฉลิมฉลองเป็นประจำทุกปี เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาและต่อสู้กับความยากจน โดยกำหนดจัดงาน เป็น 3 ระดับ คือ 1) ระดับโลก จัดที่สำนักงานใหญ่ FAO กรุงโรม เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 59 2) ระดับภูมิภาค ซึ่งภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก จัดขึ้นที่สำนักงาน FAO กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 17 ต.ค. 59 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จเป็นองค์ประธาน และ 3) การจัดในแต่ละประเทศ โดยในปีนี้กำหนดจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 24 - 27 พฤศจิกายน 2559 ณ จ. เชียงราย
ทั้งนี้ การจัดงานวันอาหารโลกในปี 2559 ในแต่ละระดับข้างต้นจะอยู่ภายใต้หัวข้อ "สภาพภูมิอากาศกำลังเปลี่ยนแปลง : อาหารและการเกษตรต้องเปลี่ยนแปลงด้วย" เพื่อเน้นถึงความสำคัญของการปรับเปลี่ยนวิถีทำการเกษตรและการบริโภคอาหาร ในการลดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม/ภูมิอากาศ ลดความยากจนและเพิ่มการเข้าถึงอาหาร ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ค.ศ. 2030 ในประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งครอบคลุมทั้งด้านป่าไม้ การเกษตร การจัดการด้านปศุสัตว์ ลดการสูญเสียอาหาร ใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่า ลดการทำประมงเกินขนาด หรือเครื่องมือทำลายล้าง รวมถึงปรับระบบผลิตอาหาร การแปรรูป และการขนส่ง เพื่อลดผลกระทบต่อภาวะภูมิอากาศ
สำหรับการจัดงานวันอาหารโลกระดับประเทศ ซึ่งกำหนดจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 24 - 27 พ.ย.2559 ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ GMS อ. เมือง จ. เชียงราย กระทรวงเกษตรฯ ร่วมกับ เอฟ เอ โอ และหน่วยงานจากกระทรวงต่าง ๆ ทุกกระทรวงในจังหวัดเชียงรายจัดขึ้น โดยจะนำเสนอนิทรรศการ "ธ สถิตในดวงใจตราบนิรันดร์" น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้และแสดงความอาลัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ และพระราชกรณียกิจรวมถึงโครงการตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน ซึ่งได้พระราชทาน 2 มาตรการ คือ
1) มาตรการบรรเทาหรือลดภาวะโลกร้อนโดยตรง เช่น ทรงอนุรักษ์พื้นที่ป่าและสิ่งแวดล้อม ทรงฟื้นฟูสภาพป่าและปลูกป่าทดแทน ทรงอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรดิน ทรงแก้ปัญหาน้ำเน่าเสีย
2) มาตรการจัดการให้สามารถดำรงชีวิตได้ด้วยความพอเพียงที่พอดี ที่สอดคล้องกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เช่น ทรงแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำ การทำเกษตรผสมผสาน ทำเกษตรแบบขั้นบันได แบบพึ่งพาธรรมชาติ ปราศจากสารเคมี การปรับเปลี่ยนจากการปลูกพืชเสพติด มาเป็นการปลูกพืชเศรษฐกิจทดแทน ตลอดจนการรับประทานอาหาร ใช้สิ่งของต่าง ๆ แต่พอดี เป็นต้น นอกจากนี้ จะนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ที่เกิดจากผลกระทบจากโลกร้อน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น ภัยแล้ง น้ำท่วม ที่ส่งผลต่อการผลิตทางอาหารและการเกษตร ขณะเดียวกัน ยังมีการถ่ายองค์ความรู้ เทคนิค และสาธิตวิธีการผลิตสินค้าเกษตรให้มีคุณภาพและได้ผลผลิตสูง ภายใต้ภาวะสภาพอากาศที่กำลังเปลี่ยนแปลง รวมถึงการจัดสัมมนา และการจำหน่ายผลิตผลทางการเกษตรของจังหวัดเชียงรายด้วย
"จากข้อมูลของเอฟ เอ โอ ระบุว่า ปัจจุบันประชากรโลก ประมาณ 800 ล้านคน ยังอดอยากหิวโหย และอยู่ในสภาวะทุพโภชนากา ขณะเดียวกันประชากรทั่วโลกมีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นถึง 9.6 พันล้านคน ภายในปี 2050 หรือ อีก 34 ปีข้างหน้า จำเป็นต้องเพิ่มกำลังการผลิตอาหารให้มากขึ้น เพื่อรองรับกับจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น ซึ่งคาดว่าผลผลิตการเกษตรต้องเพิ่มขึ้นอีก 60 % แต่การเพิ่มกำลังผลิตอาหารก็จะมีปัญหา เพราะโลกประสบปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งสภาวะอุณหภูมิที่สูงขึ้น การเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติต่างๆ เช่น น้ำท่วม ภัยแล้ง เป็นต้น โดยกลุ่มคนยากจน ซึ่งส่วนมากอยู่ในภาคการเกษตร การประมง และ การปศุสัตว์ จะได้รับผลกระทบในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากที่สุด จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ประเทศต่าง ๆ ต้องมีระบบการผลิตอาหารที่ยั่งยืน และต้องปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงสร้างความยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้นในด้านการผลิตและการพัฒนาอย่างยั่งยืน" พลเอก ฉัตรชัย กล่าว
ข่าวเด่น