รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณ 900 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2560 ให้หน่วยบริการ กองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น บริหารและจัดสรร รองรับการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ ในปี 2568 ที่จะมีผู้สูงอายุประมาณ 14.4 ล้านคน เพื่อให้ผู้สูงอายุได้รับการดูแลช่วยให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น
วันนี้ (18 พฤศจิกายน 2559) ที่ จ.อุบลราชธานี ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา รักษาการเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และคณะ รับฟังการบรรยายสรุปการดำเนินงานกองทุนสุขภาพท้องถิ่น และการดำเนินงานดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง (Long Term Care) ของเขตสุขภาพที่ 10 พร้อมเยี่ยมชมการดำเนินงานโรงเรียนผู้สูงวัย เทศบาลเมืองพิบูลมังสาหาร อำเภอพิบูลมังสาหาร เยี่ยมผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงที่ ต.เหล่าเสือโก้ก อำเภอเหล่าเสือโก้ก และให้สัมภาษณ์ว่า รัฐบาลมีนโยบายลดความเหลื่อมล้ำของสังคม สร้างโอกาสการเข้าถึงบริการของรัฐ รองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ในปี 2568 ที่จะมีผู้สูงอายุประมาณ 14.4 ล้านคน ต้องเตรียมพร้อมส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุด้วยงานหรือกิจกรรมที่เหมาะสม ไม่เป็นภาระต่อสังคมในอนาคต ซึ่งรัฐบาลได้ดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมด้วยการอนุมัติงบประมาณ 600 ล้านบาทในปีงบประมาณ 2559 และจำนวน 900 ล้านบาทในปีงบประมาณ 2560 ให้หน่วยบริการ กองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น บริหารและจัดสรร ให้ผู้สูงอายุได้รับการดูแลโดยผู้ดูแลที่ผ่านการอบรม ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น
จากการตรวจเยี่ยมพบว่า เขตสุขภาพที่10 ดูแล 5 จังหวัด ประกอบด้วย อุบลราชธานี ศีรษะเกษ อำนาจเจริญ ยโสธร และมุกดาหาร ได้ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเขต 10 นำร่องจัดระบบดูแลผู้สูงอายุตามนโยบายรัฐบาล ในองค์การบริหารส่วนตำบล 160แห่ง มีจุดเด่นของการทำงานดูแลผู้สูงอายุด้วยการบูรณาการทำงานของหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ประชาชนในพื้นที่อย่างเป็นระบบ และใช้กลไกความร่วมมือในการจัดการแก้ไขปัญหาต่างๆ จนขับเคลื่อนนโยบายได้อย่างเป็นรูปธรรม เช่นที่ อ.พิบูลมังสาหาร ที่ใช้กลไกการขับเคลื่อนโดยกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น ร่วมกับเทศบาลเมืองพิบูลมังสาหาร จัดระบบบริการดูแลผู้สูงอายุจำนวน 159 คน ในลักษณะ “โรงเรียนผู้สูงวัย” มีกิจกรรมทั้งการเรียนการสอน การดูแลสุขภาพ การออกกำลังกาย มีปราชญ์ชาวบ้าน /ข้าราชการหลังเกษียณมาร่วมทำงาน โดยผู้สูงอายุที่เข้าร่วมกิจกรรม สามาถนำความรู้นำไปใช้ในการดูแลสุขภาพตนเอง มีความสุขจากการพบปะเพื่อนผู้สูงอายุ ไม่โดดเดี่ยว รู้สึกมีคุณค่าในตนเอง เป็นตัวอย่างที่ดีแห่งหนึ่งที่ร่วมแรงร่วมใจเพื่อให้เกิดสังคมผู้สูงอายุที่มีคุณภาพ
ส่วนเทศบาลตำบลเหล่าเสือโก้ก อ. เหล่าเสือโก้ก จุดเด่นในการดำเนินงาน คือการปรับกลยุทธ์การดูแลผู้สูงอายุกลุ่มติดบ้านติดเตียง ดำเนินการในรูปแบบคณะกรรมการกองทุน 3 คณะ คือ เทศบาล สาธารณสุข และชุมชน ทำหน้าที่พิจารณาจัดหา กำหนดอัตราการชดเชยค่าบริการ และเห็นชอบการจัดทำแผนการดูแล เพื่อดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง โดยกลไกของกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่นของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเหล่าเสือโก้ก โรงพยาบาลเหล่าเสือโก้ก สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์และทีมสหสาขาวิชาชีพ ร่วมกันจัดอบรมให้ญาติและคนในชุมชนเป็นผู้ดูแลผู้สูงอายุ( Care Giver)ดูแลแบบมืออาชีพ โดยชุมชนเป็นฐาน
ข่าวเด่น