ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
องค์การสหประชาชาติกำหนด 19 พ.ย. ของทุกปี เป็นวันส้วมโลก ไทยรณรงค์'ส้วมดี ชีวีมีสุข'


 


กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ชวนรณรงค์วันส้วมโลก "ส้วมดี ชีวีมีสุข” เพื่อเป็นการย้ำเตือนให้ประชาชนมีพฤติกรรมการใช้ส้วมอย่างถูกต้อง รวมทั้งปรับปรุงและพัฒนาส้วมสาธารณะให้สะอาด มาตรฐาน HAS
          
วันนี้ (18 พฤศจิกายน 2559) นายแพทย์ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการแถลงข่าวรณรงค์วันส้วมโลก "ส้วมดี ชีวีมีสุข”ณ ห้องประชุมกำธร สุวรรณกิจ กรมอนามัย ว่าจากนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข ในการพัฒนาส้วมสาธารณะไทยตลอดระยะเวลา 11ปี ที่ผ่านมา ส่งผลให้ประเทศไทยกลายเป็นสถานที่ศึกษาดูงานและเป็นแบบอย่างให้แก่นานาประเทศ ด้านการพัฒนาส้วมสาธารณะให้ได้มาตรฐาน อีกทั้งดำเนินการขับเคลื่อนเรื่องส้วมอย่างต่อเนื่อง สอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงสุขอนามัยที่พอเพียงและเป็นธรรม ลดอัตราประชากรที่ไม่มีส้วมใช้ และยังคงขับถ่ายในสถานที่ เปิดโล่งกว่า 1.1 พันล้านคนทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้หญิงและเด็กซึ่งเป็นกลุ่มที่ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ หากไม่มีห้องส้วมใช้เฉพาะและมิดชิดเพียงพอ อาจเสี่ยงต่ออันตรายและถูกทารุณกรรมทางเพศได้
           
 
นายแพทย์ธงชัย กล่าวว่า องค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้วันที่ 19 พฤศจิกายน ของทุกปี เป็นวันส้วมโลก ซึ่งปีนี้รณรงค์ในหัวข้อหลักว่า "Toilets and Jobs” โดยมุ่งเน้นให้มีการจัดการสุขาภิบาลที่ถูกสุขลักษณะ และ มีพฤติกรรมการใช้ส้วมที่ถูกต้องเพื่อลดการเจ็บป่วย การเกิดโรคติดต่ออันส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัย โดยเฉพาะ วัยทำงาน ซึ่งจะทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจและเศรษฐกิจของประเทศ กรมอนามัย จึงเร่งจัดทำแผนแม่บทพัฒนาส้วมสาธารณะไทยระยะที่ 4 (พ.ศ. 2560 - 2564) ส่งเสริมให้คนไทยมีพฤติกรรมการใช้ส้วมที่ถูกต้องเพิ่มมากขึ้น และพัฒนาการสุขาภิบาลอย่างยั่งยืน โดยนำสิ่งปฏิกูล มาใช้ประโยชน์ทางการเกษตร และผลักดันให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีระบบบำบัดสิ่งปฏิกูลอย่างถูกหลักสุขาภิบาล ตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
          
 
"ทั้งนี้ การส่งเสริมให้ประชาชนทุกครัวเรือนมีส้วมใช้ช่วยลดอัตราป่วยและตายจากโรคระบบทางเดินอาหารได้ระดับหนึ่ง แต่การพัฒนาส้วมสาธารณะไทยตามเกณฑ์มาตรฐานส้วมสาธารณะ HAS คือ สะอาด (Health: H) เพียงพอ (Accessibility: A) และปลอดภัย (Safety: S) ช่วยยกระดับประเทศให้เป็นที่ยอมรับกับนานาชาติมากขึ้น เพราะเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศ ปัจจุบัน มีส้วมสาธารณะที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานในภาพรวม ร้อยละ 71 อีกทั้ง สิ่งที่ควรให้ความสำคัญมากที่สุด คือความร่วมมือของทุกภาคส่วน ควรพัฒนาและปรับปรุงส้วมของตนเองอย่างสม่ำเสมอ ทำความสะอาดในจุดที่ต้องสัมผัสบ่อย ได้แก่ 1) ที่จับสายฉีดน้ำชำระ 2) พื้นห้องส้วม 3) ที่รองนั่งส้วมแบบนั่งราบ 4) ที่กดน้ำของโถส้วม 5) ที่กดน้ำโถปัสสาวะ 6) ก๊อกน้ำที่อ่างล้างมือ 7) กลอนประตูหรือลูกบิด และ 8) ราวจับ สำหรับประชาชนควรมีพฤติกรรมการใช้ส้วมสาธารณะอย่างถูกต้อง ไม่ขึ้นไปเหยียบบนโถส้วมแบบนั่งราบ ไม่ทิ้งวัสดุอื่นใดนอกจากกระดาษชำระลงโถส้วม ราดน้ำหรือกดน้ำทุกครั้งหลังการใช้ส้วม และล้างมือทุกครั้งหลังการใช้ส้วม เพื่อสุขอนามัยดี และการดำรงชีวิตอย่างมีความสุข” รองอธิบดี กรมอนามัย กล่าวในที่สุด 

 


 

บันทึกโดย : วันที่ : 18 พ.ย. 2559 เวลา : 13:19:08

24-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 24, 2024, 5:25 pm