พาณิชย์เปิดเผยสถานการณ์ตลาดข้าวไทยในจีน โดยเฉพาะการบริโภคข้าวไทยของชาวเสฉวน นิยมบริโภคข้าวไทยมากขึ้นและมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าวหอมมะลิไทย
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ข้าวหอมมะลิไทยมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก ด้วยความเป็นข้าวคุณภาพ เมล็ดเรียวยาวและมันวาว มีกลิ่น หอม รสชาติอร่อย และเก็บรักษาได้นาน จึงได้รับความนิยมจากผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ จนทำให้ไทยกลายเป็นประเทศที่ส่งออกข้าวมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก รวมทั้ง จีน สำหรับการนำเข้าข้าวไทยของจีนพบว่า ระหว่าง ปี 2009 - 2011 จีนมีการนำเข้าข้าวไทยมากเป็นอันดับหนึ่ง มาโดยตลอด
จนกระทั่งปี 2012 จีนนำเข้าข้าวไทยลดลง ตามลำดับจนไทยตกอยู่ในลำดับที่สามต่อจากเวียดนาม และปากีสถาน ในปี 2016 ระหว่างเดือนมกราคม-มิถุนายน การนำเข้าข้าวไทยของจีน อยู่ในทิศทางที่ดีขึ้น โดยจีนได้นำเข้าข้าวจากไทยจำนวน 529,500 ตัน ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 52.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 26.6 ของปริมาณการนำเข้าข้าวทั้งหมดของจีน ซึ่งมากเป็นอันดับ ที่ 2 รองจากเวียดนามที่ได้ส่งออกข้าวมาจีนถึง 855,900 ตัน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 42.9 ของปริมาณการนำเข้าข้าวทั้งหมดของจีน
โดยสาเหตุหลักที่จีนนำเข้าข้าวจากเวียดนามมากกว่าข้าวไทย เนื่องจากปัญหาราคาข้าวไทยสูงกว่าเวียดนาม เช่น ในเดือนมิถุนายนราคาข้าวซื้อขายหน้าด่าน ข้าว 5 % ของไทยอยู่ที่ตันละ 3 ,309 หยวน ขณะ ที่ข้าวเวียดนามมีราคา อยู่ที่ 2,932 หยวน อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมชาวจีนยังเห็นว่าข้าวไทยเป็นข้าวที่มีคุณภาพสูง ทำให้เป็นที่นิยมของผู้ที่มีรายได้ปานกลาง-สูง และผู้ที่นิยมของดีมีคุณภาพ การบริโภคข้าวไทยของชาวเสฉวน ชาวเสฉวนนิยมบริโภคข้าวไทยมากขึ้นและมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าวหอมมะลิไทย ที่ยิ่งนับวันยิ่งได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย เนื่องด้วยชาวเสฉวนนิยมบริโภคข้าวเมล็ดยาว อีกทั้งมีกำลังซื้อสูงและนิยมสินค้านำเข้า จึงหันมาใส่ใจในคุณภาพของข้าวที่บริโภค เพื่อยกระดับชีวิตของตนเอง โดยผู้บริโภคข้าวหอมมะลิไทยส่วนใหญ่จะเป็นผู้บริโภคระดับกลาง-สูง ร้านอาหารไทย ภัตตาคาร และโรงแรม ซึ่งข้าวไทยส่วนใหญ่จะวางจำหน่ายในห้างสรรพสินค้า ซุปเปอร์มาเก็ต และร้านค้า Chain store โดยข้าวไทยที่จำหน่ายในตลาดมีหลายยี่ห้อ มีทั้งขนาด 2.5 กก. 5 กก. และ 10 กก. แต่ข้าวไทยที่ได้รับความนิยมมากที่สุดจากชาวเสฉวนคือขนาด 5 กก. ซึ่งมีราคาประมาณ 90 - 130 หยวน แตกต่างกันไปตามคุณภาพและ ยี่ห้อของข้าว ปัจจุบัน ผู้นำเข้าข้าวในมณฑลเสฉวนยังมีจำนวนน้อยมาก ทำให้การแข่งขันในตลาดยังไม่รุนแรงเช่น ตลาดทางจีนตอนใต้และจีนตะวันออก จึงนับเป็นโอกาสที่ดีต่อนักลงทุนและผู้ส่งออกไทยที่ต้องการเข้ามาเจาะ ตลาดข้าวในมณฑลเสฉวน
จีนนำเข้าข้าวมากกว่า 2 ล้านตัน เป็นครั้งแรกในปี 2012 และนำเข้าข้าวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด จนกระทั่งปี 2015 ปริมาณการนำเข้าข้าวของจีนสูงถึง 3.35 ล้านตัน ซึ่งเป็นปริมาณที่มากที่สุดเป็น ประวัติการณ์ ขณะที่ผลผลิตข้าวของจีนยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงส่งผลให้ธุรกิจการค้าข้าวของจีนต้องได้รับผลกระทบเชิงลบ เนื่องจากข้าวนำเข้าที่จำหน่ายในตลาดจีนมีกำไรสูงกว่าข้าวที่ผลิตในประเทศ และถึงแม้ว่าราคาข้าวต่างประเทศจะขยายตัวสูงขึ้นหรือมีราคาต่างจากข้าวในประเทศไม่มาก แต่กำไรจากการจำหน่ายข้าวต่างประเทศยังคงสูง โดยในเดือนมกราคม 2016 ข้าวไทยและข้าวเวียดนามในตลาดจีนมีราคาประมาณตันละ 360-370 เหรียญสหรัฐฯ (2,430-2,500 หยวน อัตราแลกเปลี่ยน 1 หยวน เท่ากับ 6.75 เหรียญสหรัฐฯ) ซึ่งสูงกว่าข้าวเม็ดยาวในภาคใต้ของจีนถึง 900-1,000 หยวนต่อตัน อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ปี 2016 เป็นต้นมา การนำเข้าข้าวของจีนยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยระหว่างเดือนมกราคม-มิถุนายน 2016 จีนได้นำเข้าข้าวจำนวน 1.99 ล้านตัน ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 40.72 เมื่อ เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นมูลค่ารวม 908.69 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 37.1 เมื่อ เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ขณะนี้กรมส่งเสริมการค้าต่างประเทศได้ออกมาตรฐานข้าวหอมมะลิ เพื่อให้เกิดความชัดเจนและสร้างความเข้าใจให้ผู้นำเข้าและผู้บริโภคต่างประเทศ แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ (1.) ข้าวหอมมะลิไทย (THAI HOM MALI RICE) กำหนดให้มีข้าวหอมมะลิไทยไม่น้อยกว่า 92% (2.) ข้าวหอมไทย (THAI JASMINE RICE หรือTHAI FRAGRANT RICE หรือ THAI AROMATIC RICE) มีข้าวหอมไทยไม่น้อยกว่า 80% มีอมิโลสไม่เกิน 20% (3.) ข้าวหอมที่มีเงื่อนไขแตกต่างจากมาตรฐานที่กำหนดไว้ข้างต้น
ข่าวเด่น