ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
พาณิชย์เทิดพระเกียรติ เดินตามรอยพระบาทฯ 'พ่อหลวง' ส่งเสริมการตลาดนำการผลิต


 


พาณิชย์เทิดพระเกียรติ เดินตามรอยพระบาทฯ 'พ่อหลวง' ส่งเสริมการตลาดนำการผลิต สร้างอาชีพยั่งยืน สร้างรายได้ ชุมชนเข้มแข็ง ชู'กาแฟดอยช้าง'ขึ้นทะเบียนจีไอในอียู ถือเป็นความภาคภูมิใจ ของชาวอาข่า - คนไทย ของหมู่บ้านดอยช้างต้นแบบ One Village Brand เอเชียแปซิฟิก

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกลของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และด้วยพระราชดำรัส เกี่ยวกับการค้นคว้าความต้องการของตลาดแล้ว นำมาปรับการผลิต ผลิตให้ได้คุณภาพว่า “...ไม่จำเป็นต้องส่งเสริมผลผลิตให้ได้ปริมาณสูงสุด แต่เพียงอย่างเดียว เพราะเป็นการสิ้นเปลืองค่าโสหุ้ยและทำลายคุณภาพดิน แต่ควรศึกษาสภาวะตลาดการเกษตร ตลอดจนการควบคุมราคาผลิตผล ไม่ให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน...” ซึ่งงานของกระทรวงพาณิชย์ มีแนวนโยบายสนองพระราชดำรัสในการสร้างความเข้มแข็งให้กับท้องถิ่น รวมถึงนโยบายการตลาดนำการผลิต และการสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยทรัพย์สินทางปัญญา

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงเป็นแบบอย่างของการพึ่งพาตนเอง และให้ประชาชนมีงานทำแล้วรวมเป็นกลุ่ม ซึ่งจะเห็นได้จากหลายโครงการในพระราชดำริของพระองค์ อาทิ ให้ชาวไทยภูเขาบนดอยช้าง เลิกปลูกฝิ่นหันมาปลูกพืชเมืองหนาวแทน โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน ต้นกาแฟสายพันธุ์อาราบิก้า ให้แก่พี่น้องชาวไทยภูเขาบนพื้นที่สูงในจังหวัดทางภาคเหนือเมื่อปี 2526 ซึ่งเกษตรกรหมู่บ้านดอยช้าง ตำบลวาวี อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย ได้เข้ารับพระราชทาน ต้นกล้ากาแฟสายพันธุ์อาราบิก้า เพื่อเลี้ยงชีพ ลดการทำไร่เลื่อนลอย

ทั้งนี้ ต้นกาแฟพระราชทานรุ่นแรกที่ชาวเขานำมาปลูก ผ่านการลองผิดลองถูกมาหลายครั้ง แม้จะมีนักวิชาการเกษตรมาให้ความรู้ เรื่องวิธีการปลูก แต่ชาวบ้านก็ประสบกับปัญหาการขายสินค้าในหลายปีแรก อย่างไรก็ตามด้วยความมุ่งมั่น และความร่วมมือร่วมใจกันของพี่น้องบนดอยช้าง ทุกอย่างจึงผ่านไปได้ด้วยดี เมล็ดกาแฟคุณภาพสามารถเติบโตจากรุ่นพ่อสู่รุ่นลูก

“ปัจจุบันกาแฟดอยช้าง เติบโตบนพื้นที่กว่า 20,000 ไร่ สร้างอาชีพที่ยั่งยืน สร้างรายได้ และความสุขให้แก่ ชาวอาข่าแล้ว โดยกาแฟดอยช้างได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์จาก กรมทรัพย์สินทางปัญญา เมื่อเดือนกรกฎาคม 2549 สืบเนื่องมาจากเป็นกาแฟอาราบิก้า ที่ปลูกบนพื้นที่ดอยช้าง ซึ่งเป็นพื้นที่ ณ ระดับความสูง 1,000-1,700 เมตร จากระดับน้ำทะเล มีความอุดมสมบูรณ์ทั้งดินและน้ำ เวลาเก็บเกี่ยวผลสด ก็คัดสรรเมล็ดอย่างดี เข้าสู่กระบวนการผลิต ที่ควบคุมทุกขั้นตอน ตั้งแต่ตาก เก็บบ่ม และสีเพื่อผลิต ผ่านการ คั่ว-อบ จนได้กาแฟคุณภาพที่ดี รสชาติอ่อน คล้ายไวน์ขาว และมีกลิ่นหอม ถือเป็นเอกลักษณ์เฉพาะที่ โดดเด่น กาแฟดังกล่าวยังเป็นสินค้าที่สร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศไทย โดยได้รับการ

ขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ ทางภูมิศาสตร์ในสหภาพยุโรป (GI EU) เมื่อเดือน กรกฎาคม 2558 ถือเป็นความภาคภูมิใจของชาวอาข่าและ คนไทยทุกคน” นางอภิรดี กล่าวว่า ชาวเขาบนพื้นที่ดอยช้างเปลี่ยนอาชีพจากการปลูกฝิ่นมาปลูกกาแฟทดแทนตามแนวพระราชดำริ ทำให้มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ที่สำคัญสามารถช่วยฟื้นฟูป่าไม้ได้เป็นอย่างดี เพราะการปลูกกาแฟนั้น จะต้องปลูกใต้ร่มเงาไม้อื่นๆ ทั้ง สะตอ บ๊วย พลับ ลูกไหน เชอร์รี่จีน ฟักแม้ว จึงทำให้ทั่วทั้งดอยช้างมี ป่าไม้ที่สมบูรณ์กลับมาอีกครั้ง มีทั้งน้ำ มีทั้งดินที่เหมาะแก่การเพาะปลูกพืชนานาชนิด

หมู่บ้านดอยช้างจะได้เป็นต้นแบบ One Village Brand ของเอเชียแปซิฟิก เนื่องจากชุมชนเล็กๆ ที่แห่งนี้มีผลิตภัณฑ์ที่สร้างแบรนด์ได้ด้วยตัวเอง ออกสู่สากลภายใต้ชื่อ “กาแฟดอยช้าง” พร้อมทั้งยังมีวิถีชีวิต และวัฒนธรรมแบบชาวเขาเผ่าอาข่าที่น่าสนใจ กลายเป็นเสน่ห์ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวเดินทางไปสัมผัสพื้นที่เหนือระดับน้ำทะเลในความสูง 1,700 เมตรอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาวตั้งแต่เดือนตุลาคม - กุมภาพันธ์ จะมีผู้คนแวะมาเช็คอินที่ร้านกาแฟดอยช้าง ก่อนจะเดินทางไปแวะชมแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ในบริเวณใกล้เคียง

นางอภิรดี กล่าวว่า คุณภาพของกาแฟดอยช้างได้รับการรับรองมาตรฐานจากหน่วยงานต่างๆ มากมายไม่ว่าจะเป็น Fair Trade ซึ่งเป็นการรับรองว่าสินค้าได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขขององค์กรแฟร์เทรดสากล, USDA Organic ซึ่งเป็นตรารับรองคุณภาพการทำเกษตรเชิงอินทรีย์ของประเทศสหรัฐอเมริกา, EU Organic Farming ซึ่งเป็นการรับรองการนำเข้าผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์จากต่างประเทศของสหภาพยุโรป เป็นต้น
 
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 20 พ.ย. 2559 เวลา : 07:11:18

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 3:54 am