ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
เกษตรฯ เร่งแจ้งศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบกว่า 200 ศูนย์ ปรับแผนการผลิตรับมาตรฐานบังคับมีผล ต.ค.60


 


เกษตรฯ เร่งแจ้งศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบกว่า 200 ศูนย์ รับทราบข้อมูล หลักเกณฑ์ ข้อกำหนด เพื่อปรับแผนการผลิตรองรับก่อนมาตรฐานบังคับศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบมีผล ต.ค.60 นี้ คาดช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นคุณภาพการผลิตนมได้ทั้งระบบ และสร้างเสถียรภาพราคาน้ำนมดิบให้กับเกษตรกรดีขึ้น

พลเอกฉัตรชัย  สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า การเลี้ยงโคนมและการผลิตน้ำนมจัดเป็นอาชีพที่สำคัญ และเป็นผลผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงส่งเสริมและสนับสนุนอาชีพการเลี้ยงโคนมของเกษตรกร เพื่อให้มีรายได้และมีอาชีพที่มั่นคงและยั่งยืน จนทำให้ประเทศไทยเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ประสบความสำเร็จในด้านการส่งเสริมการเลี้ยงโคนม และการบริโภคนมของคนไทย ซึ่งนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้

 
ดังนั้น นอกจากการส่งเสริมและพัฒนาการเลี้ยงโคนมของเกษตรกรตามพระราชปณิธานแล้ว กระทรวงเกษตรฯ ยังเห็นความสำคัญและความจำเป็นที่จะต้องยกระดับคุณภาพน้ำนมดิบทั้งระบบ โดยเฉพาะศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบที่เป็นจุดเชื่อมต่อในการรับซื้อผลผลิตน้ำนมดิบจากฟาร์มเกษตรกร นำมาลดอุณหภูมิก่อนที่จะส่งโรงงานแปรรูป ซึ่งขั้นตอนนี้มีความสำคัญต่อคุณภาพน้ำนมมาก หากการปฏิบัติไม่ถูกสุขลักษณะและไม่ได้มาตรฐานจะเกิดปัญหาด้านคุณภาพและความปลอดภัย คือ ก่อให้เกิดการปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ที่เจริญเติบโตขึ้นจนทำให้น้ำนมดิบคุณภาพไม่ดีได้ ซึ่งอาจถูกปฏิเสธการรับซื้อจากโรงงานแปรรูป และกระทบต่อรายได้ของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมได้ จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่กระทรวงเกษตรฯ โดยสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ ได้ยกระดับมาตรฐานการปฏิบัติที่ดีสำหรับศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบเข้าสู่มาตรฐานบังคับ ซึ่งจะเป็นแนวปฏิบัติสำหรับศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบที่มีกว่า 200 ศูนย์ ในการรักษาคุณภาพน้ำนมดิบและลดความเสี่ยงการปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์และสารเคมี เพื่อให้ได้น้ำนมดิบที่มีคุณภาพ ถูกสุขลักษณะ และได้วัตถุดิบที่มีความปลอดภัยป้อนเข้าสู่โรงงานแปรรูป โดยล่าสุดขณะนี้มาตรฐานบังคับดังกล่าวได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2559 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 17 ตุลาคม 2560 เป็นต้นไป
 

ด้านน.ส.ดุจเดือน ศศะนาวิน เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับแนวทางปฏิบัติเมื่อมาตรฐานดังกล่าวมีผลบังคับใช้แล้ว ศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบต้องมีการดำเนินการที่ได้ควบคุมการรับซื้อน้ำนมดิบจากเกษตรกร การผลิตและเก็บรักษาน้ำนมดิบอย่างถูกสุขลักษณะ ทำความสะอาดเครื่องจักรและอุปกรณ์อย่างเหมาะสม มีการตรวจสอบคุณภาพน้ำนมดิบ รวมทั้งผู้ปฏิบัติงานและผู้ขนส่งน้ำนมดิบต้องมีสุขลักษณะส่วนบุคคลที่ดีในขณะปฏิบัติงาน ทั้งหมดนี้เพื่อป้องกันการปนเปื้อนที่จะก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภค ซึ่งศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบส่วนใหญ่ปฏิบัติได้ถูกสุขลักษณะและมีคุณภาพอยู่แล้ว จะมีเพียงศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบขนาดเล็กจำนวน 17 แห่งที่ต้องเร่งปรับปรุงแก้ไขให้ได้ตามมาตรฐาน ซึ่ง มกอช.จะร่วมกับกรมปศุสัตว์พัฒนาศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบต้นแบบ 2 แห่ง ได้แก่ จ.ขอนแก่น และประจวบคีรีขันธ์ เป็นแนวทางในการพัฒนาศูนย์รวบรวมน้ำดิบให้เข้าสู่ระบบมาตรฐานทั้งหมดให้แล้วเสร็จภายในปี 2560  นอกจากนี้ มกอช.จะเร่งจัดหน่วยบริการเคลื่อนที่ให้ความรู้ รายละเอียด ข้อกำหนด วิธีการปฏิบัติ รวมถึงให้คำปรึกษาแนะนำ แก้ไขปัญหาอุปสรรคต่างๆ รวมถึงให้บริการรับคำขอใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบการศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบก่อนเข้าสู่มาตรฐานบังคับในปี 2560 ด้วย

“ปัจจุบันมีศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบของสหกรณ์โคนมและภาคเอกชน จำนวน 232 ศูนย์ทั่วประเทศ รับซื้อน้ำนมดิบ ปีละประมาณ 1 ล้านตัน เพื่อผลิตผลิตภัณฑ์นมพร้อมดื่มป้อนตลาดภายในประเทศและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านอาทิ กัมพูชา ลาว และพม่า เป็นต้น และน้ำนมดิบส่วนหนึ่งยังผลิตเป็นผลิตภัณฑ์นมในโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน จึงจำเป็นต้องควบคุมคุณภาพน้ำนมดิบให้ได้มาตรฐาน เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค”น.ส.ดุจเดือน กล่าว
 

บันทึกโดย : วันที่ : 20 พ.ย. 2559 เวลา : 08:28:43

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 3:57 am