กระทรวงสาธารณสุข เร่งรัดรณรงค์เพิ่มความตระหนักในการใช้ยา ประกาศนโยบายทุกโรงพยาบาลในสังกัดเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล ตั้งเป้าลดการป่วยจากเชื้อดื้อยาร้อยละ 50 ภายใน 5 ปี พร้อมแนะการใช้ยาถูกวิธีลดปัญหาเชื้อดื้อยา
ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า องค์การอนามัยโลกกำหนดให้พฤศจิกายนของทุกปี เป็นสัปดาห์รณรงค์สร้างความตระหนักเรื่องเชื้อดื้อยาและการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุผล ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 14-20 พฤศจิกายน มุ่งให้ประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์ทั่วโลก เพิ่มความตระหนักในการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุสมผล มีการควบคุมการติดเชื้อที่ดี รวมไปถึงการดูแลสุขอนามัยของมือ การตรวจคัดกรอง และการแยกผู้ป่วยติดเชื้อแบคทีเรียดื้อยา เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อให้กับผู้ป่วยอื่นในโรงพยาบาล ขณะนี้ปัญหาเชื้อดื้อยาเป็นปัญหาสำคัญระดับโลก เชื้อแบคทีเรียก่อโรคได้ปรับตัวจนดื้อต่อยาต้านจุลชีพเกือบทุกชนิด หากไม่เร่งแก้ไข โลกจะเข้าสู่ยุค Post-antibiotic era คือกลับสู่ยุคที่คนจะตายจากโรคติดเชื้อแบคทีเรียอีกครั้งแม้จะมียาปฏิชีวนะแต่เนื่องจากเชื้อดื้อยาจึงรักษาไม่หาย คาดว่าในปี 2593 ทั่วโลกจะมีผู้เสียชีวิตจากปัญหาเชื้อดื้อยารวม 10 ล้านคน ในจำนวนนี้อยู่ในทวีปเอเชียมากที่สุดถึง 4.7 ล้านคน และยังส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ต่อการปศุสัตว์ การประมง การเพาะปลูก การค้าระหว่างประเทศ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และสุขภาพ จากการแพร่กระจายเชื้อดื้อยาข้ามพรมแดนผ่านการเคลื่อนย้ายของคน สัตว์ และสินค้าทางการเกษตร
รัฐบาลไทยมีนโยบายแน่วแน่ในการแก้ไขปัญหาเชื้อดื้อยา โดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถ้อยแถลงยืนยันการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการระดับโลก (Global Action Plan on Antimicrobial Resistance) ผ่านปฎิญญาทางการเมืองในการประชุมระดับสูงของสมัชชาสหประชาชาติ เรื่องการดื้อยาต้านจุลชีพ ณ สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติ สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2559 และกระทรวงสาธารณสุข ได้ประกาศนโยบายให้โรงพยาบาลในสังกัดทุกแห่ง เป็นโรงพยาบาลส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล โดยเฉพาะการใช้ยาปฏิชีวนะ ซึ่งจากการศึกษาพบว่า มีผู้ติดเชื้อดื้อยาปีละ 88,000 คนนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลนานขึ้นกว่า 1 ล้านวัน เสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาปีละ 38,000 คน สูญเสียทางเศรษฐกิจโดยรวมสูงถึง 4.2 หมื่นล้านบาท
ด้านนายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า แผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย พ.ศ. 2560-2564 ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้วเมื่อสิงหาคม 2559 ประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์ คือ 1.การเฝ้าระวังการดื้อยาต้านจุลชีพอย่างบูรณาการ 2.การควบคุมการกระจายยาต้านจุลชีพในภาพรวมของประเทศ 3. การป้องกันและควบคุมเชื้อดื้อยาและการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสมในสถานพยาบาลและร้านยา 4. การป้องกันและควบคุมเชื้อดื้อยาและการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสมในภาคการเกษตรและสัตว์เลี้ยง 5.การสร้างความตระหนักรู้แก่ประชาชนเรื่องเชื้อดื้อยาและยาต้านจุลชีพ 6. การพัฒนาโครงสร้างและกลไกของการทำงานเชิงบูรณาการ การติดตามประเมินผล และประสานความร่วมมือภายในประเทศและต่างประเทศในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์มีเป้าหมาย ลดการป่วยจากเชื้อดื้อยาร้อยละ 50 ลดการใช้ยาต้านจุลชีพในคนและในสัตว์ลงร้อยละ 20 และ 30 และประชาชนมีความตระหนักรู้เพิ่มมากขึ้นร้อยละ 20 ภายใน 5 ปี
ทั้งนี้ ในการใช้ยาเพื่อป้องกันปัญหาเชื้อดื้อ ได้แก่ 1.ใช้ยาปฏิชีวนะในกรณีจำเป็นเท่านั้น เช่น ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะในโรคหวัดเนื่องจากโรคหวัดเกิดจากเชื้อไวรัส ส่วนยาปฏิชีวนะใช้ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย 2.กินยาปฏิชีวนะให้ครบตามแพทย์สั่ง อย่าหยุดยาเอง เพราะเชื้อแบคทีเรียจะปรับตัวให้คงทนต่อยามากขึ้นและกลายเป็นเชื้อดื้อยาในที่สุด 3.ใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล ไม่ใช้ยาแรงเกินไป เพราะหากใช้ยาฤทธิ์แรงรักษาตั้งแต่เริ่มแรก หากเกิดการดื้อยาขึ้นจะไม่มียาขนานต่อไปให้รักษา ทั้งนี้ เกณฑ์ที่ใช้ระบุว่าผู้ป่วยที่เจ็บคอควรได้รับยาปฏิชีวนะ คือ ต้องมีอาการเจ็บคอร่วมกับอาการต่อไปนี้อย่างน้อย 3 ใน 4 ข้อ ได้แก่ 1.มีไข้ 38 องศาเซลเซียสขึ้นไป 2.มีฝ้าขาวที่ต่อมทอนซิล 3.คลำพบต่อมน้ำเหลืองโตที่ลำคอและกดเจ็บ 4.ไม่มีอาการไอ หากไม่มีอาการข้างต้น 3-4 ข้อ ไม่ควรใช้ยาปฏิชีวนะ ส่วนอาการไอ มีน้ำมูก เป็นแผลในปาก เสียงแหบ ไม่ใช้ข้อบ่งชี้ในการใช้ยาปฏิชีวนะ
ข่าวเด่น