เมื่อ 20 พ.ย. 59 เวลา 10.15 น. พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวสุนทรพจน์ในการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ช่วงที่ 1 (First Leaders’ Retreat) ภายใต้หัวข้อความท้าทายต่อการค้าเสรีและการลงทุนในบริบทโลกปัจจุบัน ณ ศูนย์การประชุม Lima Convention Center กรุงลิมา สาธารณรัฐเปรู โดยสรุปสาระสำคัญดังนี้
รองนายกรัฐมนตรีรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้เข้าร่วมการประชุมที่สำคัญยิ่งครั้งนี้ ซึ่งเป็นการประชุมที่ผู้นำจากเขตเศรษฐกิจที่มีพลวัตรอันโดดเด่น และมีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจโลกได้มาร่วมหารือกัน และขอบคุณต่อน้ำใจและความปรารถนาดีต่อปวงชนชาวไทย อนึ่งการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้นำมาซึ่งความเศร้าสลดของปวงชนชาวไทยทั้งชาติ ความเห็นใจจากทุกท่านถือเป็นกำลังใจที่สำคัญยิ่งรองนายกรัฐมนตรีเห็นว่าการบูรณาการทางเศรษฐกิจนั้นคือหนทางที่นำพาเอเชีย-แปซิฟิกไปสู่ความมั่งคั่งและความมั่นคง ทั้งในแง่เศรษฐกิจและสังคม อย่างไรก็ตามระบอบการค้าของโลกย่อมต้องมีการปรับให้สอดรับกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วของโลก การรวมตัวกันทุกปีของ 21 เขตเศรษฐกิจเป็นเครื่องบ่งชี้ที่สำคัญถึงความเชื่อมั่นต่อระบอบการค้าพหุภาคี และความมุ่งมั่นที่จะรักษาระบอบดังกล่าว
รองนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงประเด็นสำคัญ 2 ประการ คือ
ประการแรก คือ การได้รับประโยชน์จากการค้าเสรีและการบูรณาการทางเศรษฐกิจไม่ทั่วถึง โอกาสและการเข้าถึงทรัพยากรจะต้องถูกกระจายอย่างทั่วถึงเพื่อสร้างความมั่งคั่งและการเติบโตอย่างครอบคลุม จะต้องปฏิรูปโครงสร้างทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจจะต้องมีการปรับปรุงเพื่อลดภาระของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อยที่มีข้อจำกัดทางด้านเงินทุน ทรัพยากรบุคคล และเวลาในการดำเนินการ อีกทั้งการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์จะเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับ SMEs และ ผู้ประกอบการรายใหม่ (Start-Ups) อย่างไรก็ตาม เอเปคจะต้องให้ความสำคัญต่อการเสริมสร้างความสามารถ เนื่องจากยังคงมีความแตกต่างด้านความรู้ ความเชี่ยวชาญและเทคโนโลยีระหว่างประเทศพัฒนาและประเทศกำลังพัฒนา
ประเด็นที่สองคือ การบูรณาการด้านเศรษฐกิจในภูมิภาค มีการจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกกว่า 44 ฉบับ ซึ่งนับเป็นจำนวนกว่าครึ่งหนึ่งของ FTA ที่ได้จัดทำมาทั่วโลก ประเทศไทยสนับสนุนการจัดทำ ความตกลงเขตการค้าเสรีของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (FTAAP) ซึ่งเป็นวาระหลักของเอเปคช่วงหลังปี 2020
อย่างไรก็ตามเราคำนึงว่าเราได้ใช้ประโยชน์จากความตกลงก่อนๆ ที่เคยจัดทำขึ้นมากน้อยเพียงใด และความตกลงเหล่านี้ตอบสนองความต้องการของสมาชิกอย่างแท้จริงหรือไม่ ทั้งนี้ไทยยืนยันบทบาทในการประสานความต้องการของเขตเศรษฐกิจที่มีความหลากหลายดังที่ไทยได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องในเวทีต่างๆ รองนายกรัฐมนตรีเห็นว่าจะต้องพิจารณาทิศทางของเอเปคเพื่อกำหนดวิสัยทัศน์หลังปี 2020 ที่สอดคล้องกับบริบทโลกที่เปลี่ยนไป รวมถึงเป้าหมายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งเราจะต้องร่วมกันบรรลุในปี 2030 ไทยในฐานะหนึ่งในสมาชิกก่อตั้งเอเปค ขอยืนยันความมุ่งมั่นของไทยในการร่วมมือกับทุกเขตเศรษฐกิจเพื่อบรรลุความมั่งคั่งที่สมดุล ครอบคลุมและยั่งยืน
ข่าวเด่น