นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ประเทศจีนเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในปลายปี2015 บุคคลผู้สูงอายุชาวจีนที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปมี จำนวนสูงถึง 222 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 16.1 ของประชากรทั้งประเทศ ในจำนวนนี้ ผู้สูงอายุที่ขาดคนดูแลและต้องอาศัยโดดเดี่ยว ลำพังมีประมาณ 100 ล้านคน และคาดว่า ในปี 2020 กลุ่มผู้สูงอายุดังกล่าวจะมีจำนวนถึง 243 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 18 ของประชากร จีนทั้งประเทศ แต่ว่าจำนวนสถานสงเคราะห์ดูแล และบริการผู้สูงอายุภายในประเทศยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการของสังคมได้ ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องพัฒนาอุตสาหกรรมการดูแลผู้สูงอายุ และเพื่อผลักดันการพัฒนาของอุตสาหกรรมการดูแลผู้สูงอายุ
รัฐบาลจีนได้ออกประกาศและนโยบายหลายฉบับเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมธุรกิจการดูแลและบริการผู้สูงอายุ อาทิเช่น เมื่อเดือน กันยายน 2013 สำนักนายกรัฐมนตรีจีนได้ออกประกาศเกี่ยวกับการเร่งการพัฒนาธุรกิจการบริการผู้สูงอายุ เพื่อภาคเอกชนมีส่วนร่วมเข้าสู่การพัฒนาธุรกิจดังกล่าว ปี2014 ได้ออกประกาศเกี่ยวกับ เรื่องการวางแผนติดตั้งอุปกรณ์สำหรับให้บริการผู้สูงอายุ และประกาศเกี่ยวกับการเร่งพัฒนาคุณภาพ มาตรฐานการให้บริการผู้สูงอายุ และการส่งเสริมการติดตั้งอุปกรณ์การให้บริการและดูแลผู้สูงอายุในเขตเมืองและประกาศอื่นๆ พร้อมนโยบายต่างๆที่เกี่ยวข้อง ในปี2015 ได้เสนอแนวทางการสนับสนุนให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมลงทุนเพื่อพัฒนาธุรกิจการให้บริการสำหรับผู้สูงอายุ และวิธีการบริหารเงินกองทุนบำเหน็จบำนาญ
และในปี 2016 รวมทั้งเสนอแนวทางเกี่ยวกับการให้เงินสนับสนุนการพัฒนาของอุตสาหกรรมและธุรกิจดังกล่าวในรูปแบบ Public-Private Partnership (PPP) โดยอาศัยความร่วมมือของภาครัฐและเอกชน ซึ่งภาครัฐจะเป็นผู้ออกนโยบาย แต่ภาคเอกชนจะเป็นผู้ดำเนินการ ปัจจุบัน รัฐบาลในแต่ละพื้นที่ต่างสนับสนุนการใช้รูปแบบ PPP ในการพัฒนาอุตสาหกรรมการ ดูแลผู้สูงอายุในจีน จากการสนับสนุนของรัฐบาลและการกระตุ้นจากความต้องการของตลาด คาดว่าขนาดอุตสาหกรรมการดูแลและบริการผู้สูงอายุจะมีมูลค่าจาก 4.1 ล้านล้านหยวนในปี2014 เพิ่มขึ้นเป็น 106 ล้านล้านหยวนในปี2050 สัดส่วนของ GDP จะเพิ่มจากร้อยละ 8 เป็นร้อยละ 33 และจีนจะเป็นประเทศที่ตลาดผู้สูงอายุจะมีศักยภาพมากที่สุดในโลก ศักยภาพในการพัฒนาและทิศทางของอุตสาหกรรมดูแลผู้สูงอายุในอนาคต
ปัจจุบัน สังคมผู้สูงอายุของประเทศจีนยังอยู่ช่วงเริ่มต้นตลาดความต้องการสินค้า/บริการยังมีอีกมาก จึงนับเป็นตลาดที่มีศักยภาพและมีโอกาสทางการค้าอย่างสูง เพราะผู้สูงอายุให้ความสำคัญเรื่องคุณภาพชีวิตมากยิ่งขึ้น บุคคลในครอบครัวดูแลน้อยลง และมีความต้องการรักษาสุขภาพ เช่น อาหารเสริมเพื่อฟื้นฟูสุขภาพ ทำให้ภาคการผลิตสินค้าและภาคบริการดังกล่าวมีโอกาสในการพัฒนา ด้านการตลาดสันทนาการจะมีส่วนช่วยให้ผู้สูงอายุมีส่วนร่วมในสังคม ทั้งมีจากการวิจัยพบว่า เมื่อมีเวลา ว่าง ผู้สูงอายุมักนิยมดูทีวี รองลงมาคือการฟังวิทยุ เล่นไพ่นกกระจก เล่นหมากรุก เดินเที่ยว สวนสาธารณะ เป็นต้น
ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวค่อนข้างเรียบง่าย และเพื่อตอบสนองความต้องการ ผู้สูงอายุตามสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งควรมีโครงการหรือกิจกรรมที่แปลกใหม่ที่จะช่วยให้ผู้สูงอายุใช้ชีวิตในวัยชราอย่างมีความสุขและเกิดผลกำไรทางเศรษฐกิจตามมาด้วย ตลาดเงินประกันความเสี่ยงยามชรา การประกันสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุในตลาดจีนยังมีน้อย โดยเฉพาะการประกันสุขภาพสำหรับ กลุ่มที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป โดยราคาประกันจะอยู่ที่ 300 กว่า-500 กว่าหยวน โดยบริษัทประกันภัยที่ ให้บริการสำหรับผู้สูงอายุ เมื่อคำนวนราคาเฉลี่ยแล้วจะต้องจ่ายค่าประกันเฉลี่ยประมาณ 450 หยวน/ปี ตามข้อมูลสถิติปี 2014 หากคำนวนจากตัวเลขผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไปที่มีจำนวน 200 ล้านคน ขนาดของตลาดประกันสุขภาพสำหรับกลุ่มนี้จะมีมูลค่าสูงถึง 90,000 ล้านหยวน ด้านตลาดการศึกษาสำหรับผู้สูงอายุ จากการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำให้ผู้สูงอายุจำนวนมากต่างอยากเข้าศึกษาต่อใน มหาวิทยาลัยเพื่อสามารถใช้ชีวิตอย่างมีความสุขได้เต็มที่ในวัยชรา ทำให้ชีวิตมีชีวิตชีวาขึ้น มี ความหมายขึ้น แต่ก็ยังไม่มีมหาวิทยาลัยวัยผู้สูงอายุดังกล่าวที่จะมาให้การศึกษา ดังนั้น แนวโน้มของ สถานศึกษาสำหรับผู้สูงอายุจึงเป็นธุรกิจที่จะบังเกิดขึ้น
การพัฒนาในนครเฉิงตู จนถึงปี2014 ไม่ว่าจะเป็นจำนวนหรือสัดส่วนของผู้สูงอายุนครเฉิงตูยังคงเป็นอันดับแรกในจำนวนเมืองรองของจีนทั้งหมด เนื่องจากจำนวนประชากรผู้สูงอายุที่สูงขึ้น ทำให้มีความต้องการที่หลากหลาย ในปี 2015 รัฐบาลมณฑลเสฉวนและนครเฉิงตูได้ออกประกาศเกี่ยวกับแผนการเร่งการสร้างระบบการดูแลและบริการผู้สูงอายุ และแผนเกี่ยวกับการเร่งใช้นวัตกรรมเพื่อพัฒนาธุรกิจการ บริการสำหรับผู้สูงอายุตามลำดับสองฉบับนี้คาดว่า จนถึงปี2020 นครเฉิงตูจะเป็นเมืองที่มีการดูแลผู้สูงอายุอย่างครบถ้วนโดยมีบ้านเป็นพื้นฐานชุมชนเป็นที่พึ่งพิง และสถานสงเคราะห์เป็นสถานบริการสูงอายุเป็นการสนับสนุนการบริการผู้สูงอายุจะครอบคลุมพื้นที่ทุกส่วนทั้งในเมืองและชนบทตลอดจนหมู่บ้านกว่าร้อยละ 80 จะมีเตียงให้บริการผู้สูงอายุจำนวน 135,000 เตียงขึ้นไป โดยผู้สูงอายุ 1,000 คนจะมีเตียงให้บริการมากกว่า 45 เตียง ตลอดจนมาตรการอื่นๆ เพื่อผลักดันให้การดูแลรักษาสุขอนามัยและการบริการพัฒนาไปด้วยกันนโยบายที่สนับสนุนธุรกิจการดูแลผู้สูงอายุจะมีมากขึ้น ในปี 2014 รัฐบาลเฉิงตูมีนโยบายให้เงินช่วยเหลือผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 80 ปีจำนวน 216,921 คิดเป็นเงิน 91.42 ล้านหยวน และให้เงินแก่สถานสงเคราะห์คนชรา 75 แห่งเพื่อจัดหาเตียง สำหรับผู้สูงอายุจำนวน 5.79 ล้านหยวน ในปี2015 รัฐบาลเฉิงตูได้จัดสรรงบประมาณ 400 ล้านหยวน เพื่อพัฒนาธุรกิจดูแลและบริการผู้สูงอายุและคาดว่าจะเพิ่มขึ้นตามลำดับ เพื่อพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของคนชราให้ได้รับบริการที่ดีและทั่วถึง ทั้งการให้เงินชดเชยสนับสนุนสถานสงเคราะห์ดูแลผู้สูงอายุทั้งที่เป็นสถานสงเคราะห์ที่แสวงหากำไรและไม่แสวงหากำไร ปัจจุบันอุตสาหกรรมการดูแลผู้สูงอายุในนครเฉิงตูยังอยู่ในระยะเริ่มต้น บริการด้านอาหารและเครื่องดื่ม สันทนาการและการดูแลรักษาสุขภาพยังคงเป็นประเด็นที่กลุ่มผู้สูงอายุชาวเฉิงตูให้ความสนใจมากที่สุด
นอกเหนือการพัฒนาการรักษาพยาบาลที่ค่อนข้างดีนครเฉิงตูยังคงประสบกับสภาวะขาดแคลนเตียง เพื่อรองรับผู้สูงอายุ ผนวกกับบรรยากาศภายในเมืองไม่เหมาะสมกับการพักผ่อนและต้นทุนการลงทุนสูง ทำให้ธุรกิจการท่องเที่ยวพักผ่อนของผู้สูงอายุจะอยู่บริเวณชานเมือง ส่วนสินค้า/บริการอื่นๆที่เกี่ยวกับผู้สูงอายุ เช่น อุปกรณ์ของใช้บริการสิ่งอำนวยความสะดวก ที่พักอาศัย และการศึกษายังมีศักยภาพในการพัฒนาอีกมาก เนื่องจากนครเฉิงตูเป็นเมืองใหญ่ในภาคตะวันตกจีน และเป็นเมืองที่เหมาะกับการพักผ่อน สำหรับผู้สูงอายุ จึงคาดได้ว่า อุตสาหกรรมการดูแลและบริการผู้สูงอายุในตลาดเฉิงตูจะมีศักยภาพเป็นอย่างมาก
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ยังกว่าอีกว่า ปัจจุบัน ผู้สูงอายุในจีนมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นตามลำดับมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยรัฐบาลจีนมีแผนจะเร่งสร้างนครเฉิงตูให้เป็นเมืองแห่งแรกในการดูแลและบริการผู้สูงอายุของจีน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความต้องการสินค้าและบริการสำหรับผู้สูงอายุของตลาดนครเฉิงตูเพิ่มมากขึ้น จึงเชื่อได้ว่า ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มผู้สูงอายุจะเติบโตขึ้นไปด้วย เช่น ธุรกิจบริการ อุปกรณ์สำหรับผู้สูงอายุ ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมดูแลและบำรุงสุขภาพ ของใช้ ชีวิตประจำวันสำหรับผู้สูงอายุ เป็นต้น นอกจากนี้ การลงทุนด้านการประกันชีวิต การศึกษา การ บริการ การท่องเที่ยว APP มือถือ หรือผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้สูงอายุจะมีศักยภาพมาก ทั้งนี้ ผู้ประกอบการสามารถหาข้อมูลและสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ
ข่าวเด่น