กระทรวงมหาดไทยจัดทำโครงการ “1 ตำบล 1 แหล่งกักเก็บน้ำ” เน้น “ซ่อม เสริม สร้าง” จัดหาแหล่งน้ำอุปโภคบริโภค – การเกษตร ให้ครอบคลุมทุกตำบลทั่วประเทศ
วันนี้ (21พ.ย.59) นายชยพล ธิติศักดิ์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะโฆษกกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ด้วยกระทรวงมหาดไทยได้มีนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาภัยแล้งอย่างยั่งยืนด้วยการจัดหาแหล่งเก็บน้ำอุปโภคบริโภค - เพื่อการเกษตรในฤดูแล้งให้ครอบคลุมทุกตำบลทั่วประเทศ จึงได้จัดทำโครงการบูรณาการการจัดการน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้ง “1 ตำบล 1 แหล่งกักเก็บน้ำ” ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุง หรือซ่อมแซม หรือเสริมศักยภาพแหล่งกักเก็บน้ำเดิม และสร้างแหล่งกักเก็บน้ำใหม่ในที่ที่ขาดแคลน เพื่อบรรเทาและแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนในพื้นที่ซึ่งประสบกับความเดือดร้อนจากอุทกภัยหรือภัยแล้ง รวมทั้งเพื่อเป็นการจัดทำฐานข้อมูลแหล่งน้ำและเชื่อมโยงข้อมูลที่มีอยู่ในทุกระดับสำหรับสนับสนุนการแก้ไขปัญหาแบบบูรณาการและยั่งยืน มีเป้าหมายก่อสร้างหรือปรับปรุงแหล่งน้ำเพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ในด้านอุปโภคบริโภคหรือเกษตรกรรม ตามความเหมาะสมของสภาพพื้นที่เป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ในปีงบประมาณ 2560 กำหนดเป้าหมาย “1 ตำบล 1 แหล่งกักเก็บน้ำ” และระยะที่ 2 ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2561 - 2563 กำหนดเป้าหมาย “1 หมู่บ้าน 1 แหล่งกักเก็บน้ำ” โดยมีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และกรมการปกครอง เป็นหน่วยงานหลัก
สำหรับแนวทางการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามโครงการฯ ขณะนี้กระทรวงมหาดไทยได้สั่งการให้ ทุกจังหวัด มอบหมายให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ ดำเนินการสำรวจข้อมูลแหล่งน้ำในพื้นที่ตามสภาพข้อเท็จจริง เช่น จำนวนอ่างเก็บน้ำ สระน้ำ ฝาย บ่อบาดาล แหล่งกักเก็บน้ำธรรมชาติ หรืออื่นๆ ที่มีอยู่ในพื้นที่ ตลอดจนปัญหาในการบริหารจัดการแหล่งน้ำที่มีอยู่เดิม หรือพื้นที่ใดที่ขาดแคลนแหล่งน้ำให้รายงาน ตามข้อเท็จจริงและเป็นปัจจุบัน และให้วางแนวทางหรือจัดทำโครงการแก้ไขปัญหา โดยใช้กระบวนการประชาคมจากประชาชนในท้องที่เพื่อให้การแก้ไขปัญหาสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนและสภาพ ภูมิประเทศ โดยมีหลักการสำคัญ “ซ่อม เสริม สร้าง” คือ
1) กรณีมีแหล่งน้ำแต่ชำรุด ให้ดำเนินการซ่อม ให้สามารถใช้ประโยชน์ได้ 2) กรณีมีแหล่งน้ำแต่ใช้ไม่เต็มศักยภาพให้จัดทำโครงการเพื่อเสริมศักยภาพ และ 3) กรณีขาดแคลนแหล่งน้ำ ให้จัดทำโครงการเพื่อสร้างแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคหรือเพื่อการเกษตร รวมไปถึงให้รวบรวมข้อมูลผลการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำและการแก้ไขปัญหาในช่วงปี 2559 ที่ผ่านมา เพื่อให้อำเภอหรือคณะทำงานที่ตั้งขึ้นจัดทำบัญชีโครงการตามลำดับความสำคัญ และให้จังหวัดพิจารณาจัดทำแผนแก้ไขปัญหาตามศักยภาพ หากเกินศักยภาพให้แจ้งกระทรวงมหาดไทยเพื่อขอสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป ทั้งนี้จะมีการคัดเลือกพื้นที่ต้นแบบเพื่อเป็นตัวอย่างให้กับพื้นที่อื่นๆ ต่อไปด้วย
รองปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงมหาดไทยได้กำชับให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ถือเป็นนโยบายสำคัญที่ต้องกำกับติดตามการดำเนินงานของหน่วยงานในจังหวัดด้วยตนเอง รวมไปถึงบูรณาการกับทุกภาคส่วนในลักษณะประชารัฐ เพื่อบริหารจัดการน้ำให้เป็นไปอย่างยั่งยืน และให้นายอำเภอท้องที่ช่วยเหลือสนับสนุนและติดตามการดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่รับผิดชอบโดยใกล้ชิดด้วย.
ข่าวเด่น