ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ปภ.เตือนจ.ริมฝั่งแม่น้ำและท้ายเขื่อนอุบลรัตน์เตรียมรับมือระดับน้ำที่อาจเพิ่มสูงขึ้น


 


ปภ.รายงานสถานการณ์น้ำท่วมขังใน 2 จังหวัด พร้อมแจ้งเตือนจังหวัดริมฝั่งแม่น้ำและท้ายเขื่อนอุบลรัตน์เตรียมรับมือระดับน้ำที่อาจเพิ่มสูงขึ้น

กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานสถานการณ์น้ำเขื่อนอุบลรัตน์มีปริมาณน้ำเกินความจุเขื่อน คิดเป็นร้อยละ 104 ของความจุเขื่อน ทำให้ต้องระบายน้ำออกจากเขื่อน ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมขังพื้นที่การเกษตรริมฝั่งแม่น้ำและบริเวณท้ายเขื่อน ใน 2 จังหวัด รวม 8 อำเภอ ปภ. ได้ร่วมกับหน่วยทหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระดมสรรพกำลังและเครื่องมืออุปกรณ์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยโดยด่วนแล้ว พร้อมแจ้งเตือน 5 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น หนองบัวลำภู มหาสารคาม กาฬสินธุ์ และร้อยเอ็ด เตรียมพร้อมรับมือระดับน้ำที่อาจเพิ่มสูงขึ้น โดยเร่งขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูงและเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตร เพื่อป้องกันความเสียหายจากน้ำท่วมขัง
          
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ในช่วงที่ผ่านมาพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีฝนตกหนักต่อเนื่อง ทำให้เขื่อนอุบลรัตน์มีปริมาณน้ำ 2,532 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 104ของความจุเขื่อน ขณะที่มีปริมาณน้ำไหลลงเขื่อน 30.55 ล้านลูกบาศก์เมตร และระบายน้ำออกจากเขื่อน 14.39 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่งผลให้พื้นที่เหนือเขื่อนอุบลรัตน์ได้รับผลกระทบจากการเพิ่มการระบายน้ำของเขื่อน พื้นที่การเกษตรถูกน้ำท่วมขังใน 2 จังหวัด รวม 8 อำเภอ ได้แก่ จังหวัดหนองบัวลำภู (อำเภอโนนสัง และอำเภอศรีบุญเรือง) และจังหวัดขอนแก่น (อำเภอเมืองขอนแก่น อำเภอหนองนาคำ อำเภอหนองเรือ อำเภอภูเวียง อำเภอน้ำพอง และอำเภออุบลรัตน์) ทั้งนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยโดยศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 6 ขอนแก่น และศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 14 อุดรธานี ได้ระดมกำลังเจ้าหน้าที่ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกี่ยวข้าวในพื้นที่นาที่ถูกน้ำท่วมขัง รวมถึงสนับสนุนเรือจำนวน 100 ลำเพื่อขนย้ายข้าวที่เก็บเกี่ยวไปยังพื้นที่ปลอดภัย อีกทั้งได้แจ้งเตือนเกษตรกรที่มีพื้นที่การเกษตรและประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำและท้ายเขื่อนอุบลรัตน์ใน 5 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น หนองบัวลำภู มหาสารคาม กาฬสินธุ์ และร้อยเอ็ด ให้เตรียมพร้อมรับมือระดับน้ำที่อาจเพิ่มสูงขึ้น จัดเก็บและขนย้ายวัสดุสิ่งของขึ้นที่สูงให้พ้นจากแนวน้ำท่วม 

รวมถึงให้จัดวางกระสอบทรายเป็นแนวคันกั้นน้ำ และติดตั้งเครื่องสูบน้ำป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มต่ำนอกแนวคันกั้น อีกทั้งขอให้เกษตรกรเร่งเก็บเกี่ยวผลผลิต เพื่อป้องกันน้ำท่วมพื้นที่การเกษตร ส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรได้รับความเสียหาย ตลอดจนติดตามข้อมูลสถานการณ์น้ำและประกาศเตือนภัยจากหน่วยงานราชการอย่างใกล้ชิด ท้ายนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยสามารถติดต่อได้ที่ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต และสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดในพื้นที่ประสบภัย หรือสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป
 
 
 


 




 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 21 พ.ย. 2559 เวลา : 15:01:41

24-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 24, 2024, 7:42 am