วันนี้ (21 พฤศจิกายน 2559) นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวภายหลังการประชุมศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค (EOC) ว่า จากที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ยกเลิกการประกาศภาวะฉุกเฉินการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสซิกา เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2559 ที่ผ่านมา และแนะนำให้เตรียมแผนรับมือกับโรคติดเชื้อไวรัสซิกาในระยะยาว พร้อมกับวิจัยหาความรู้ใหม่ต่อไป นั้น ในส่วนของประเทศไทย โดยกระทรวงสาธารณสุข จะยังคงมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสซิกา ร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ทุกภาคส่วนอย่างเข้มข้นต่อเนื่อง แม้ว่าการประกาศดังกล่าวจะส่งผลให้โรคติดเชื้อไวรัสซิกาอยู่ในสถานะเดียวกับโรคชนิดอื่นๆ เช่น โรคไข้เลือดออก ก็ตาม
ซึ่งที่ผ่านมากรมควบคุมโรค ได้ดำเนินมาตรการ เฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสซิกาอย่างเต็มที่สูงสุดและต่อเนื่อง ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และได้มีการยกระดับการปฏิบัติการของศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินกรมควบคุมโรค (EOC) และหน่วยงานในสังกัดทุกแห่งทั่วประเทศ จากระดับ 1 เป็นระดับ 2 โดยเพิ่มความเข้มข้นในมาตรการต่างๆ ทั้งการป้องกัน การตรวจจับเร็ว วินิจฉัยเร็ว การเฝ้าระวังในกลุ่มเสี่ยง การรักษา แยกผู้ป่วย รวมถึงจัดระบบปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน เพื่อค้นหาผู้สัมผัสโรคให้ได้ทุกรายโดยเร็ว ซึ่งห้องปฏิบัติการ ของประเทศไทยสามารถตรวจหาเชื้อไวรัสซิกาได้หลายแห่ง และมีการตรวจที่แม่นยำ สามารถตรวจตัวอย่างได้มากขึ้น ทำให้การตรวจจับโรคติดเชื้อ ไวรัสซิกาครอบคลุมทุกพื้นที่ รวมถึงพื้นที่ที่ยังไม่เคยพบผู้ป่วยด้วย
นายแพทย์เจษฎา กล่าวต่อไปว่า สถานการณ์ของโรคติดเชื้อไวรัสซิกาในประเทศไทย ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา(12-18 พ.ย. 2559) พบผู้ป่วยรายใหม่ 42 ราย กระจายใน 15 จังหวัด ซึ่งจำนวนผู้ป่วยแต่ละสัปดาห์มีความใกล้เคียงกันและสามารถควบคุมโรคได้ โดยพบผู้ป่วยบางอำเภอ บางจังหวัดเท่านั้น ที่สำคัญประเทศไทยยังไม่พบผู้เสียชีวิตจากโรคติดเชื้อไวรัสซิกา การเฝ้าระวังและติดตามในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์นั้น ในขณะนี้มีหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อ 68 ราย คลอดแล้ว 26 ราย ทารกทุกรายมีอาการปกติ ซึ่งทุกรายจะมีการติดตามเฝ้าระวังต่อเนื่องจนกว่าจะคลอด ส่วนสถานการณ์โรคไข้เลือดออก ล่าสุดในสัปดาห์ที่ผ่านมามีผู้ป่วยรายใหม่ 1,065 ราย เสียชีวิต 1 ราย จังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุดในช่วง 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา คือ สงขลา ปัตตานี พัทลุง นราธิวาส และแม่ฮ่องสอน ตามลำดับ
ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนเชื่อมั่นในระบบเฝ้าระวังของประเทศไทย และติดตามข่าวสารจากกระทรวงสาธารณสุขอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญไม่ต้องกลัวหรือรังเกียจผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสซิกา เพราะปัจจุบันโรคติดเชื้อไวรัสซิกายังไม่มีรายงานการติดต่อจากการสัมผัส และไม่สามารถติดต่อทางลมหายใจ และขอให้ประชาชนทุกคนร่วมกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย เพื่อตัดวงจรของยุงลายพาหะนำโรคไข้เลือดออก ไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา
สำหรับหญิงตั้งครรภ์ทุกคนในทุกพื้นที่ควรป้องกันไม่ให้ยุงกัด ทายากันยุง หรือผลิตภัณฑ์ไล่ยุงที่มีการขึ้นทะเบียนรับรองไว้อย่างชัดเจนตลอดการตั้งครรภ์ ตรวจครรภ์ตามแพทย์นัด และหากมีอาการสงสัยป่วยให้รีบปรึกษาแพทย์ โดยอาการของผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสซิกา ส่วนใหญ่อาการของโรคไม่รุนแรง และส่วนใหญ่ป่วยแล้วหายได้เอง อาการที่พบบ่อย ได้แก่ มีไข้ ออกผื่น ตาแดง ปวดข้อ จะมีปัญหาเฉพาะกับหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งมีหลักฐานทางระบาดวิทยาที่บ่งชี้ว่าอาจสัมพันธ์กับอาการศีรษะเล็กในทารกแรกเกิด อาการจะทุเลาลงภายในเวลา 2-7 วัน หากอาการไม่ดีขึ้นให้พบแพทย์โดยเร็ว ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422” นายแพทย์เจษฎา กล่าวทิ้งท้าย
ข่าวเด่น