กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เผยผลสำรวจล่าสุดในปี 2559 พบคนไทยร้อยละ 29 หรือประมาณ 1 ใน 4 ยังมีความเชื่อว่าการดื่มเหล้าช่วยคลายหนาวได้ ชี้เป็นความเชื่ออันตราย ผู้ที่ดื่มอาจเสียชีวิตได้ เนื่องจากร่างกายจะสูญเสียความร้อนได้เร็วขึ้น เพราะฤทธิ์ของแอลกอฮอล์จะขยายหลอดเลือดฝอย จนเกิดอาการตัวเย็นเกิน มีอาการสั่น พูดอ้อแอ้ คล้ายคนเมา แนะวิธีคลายหนาวที่ปลอดภัยคือการดูแลความอบอุ่นร่างกาย โดยเฉพาะที่ศีรษะ ลำคอ และหน้าอก
นายแพทย์ประภาส จิตตาศิรินุวัตร รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้สภาพอากาศในหลายพื้นที่มีความหนาวเย็น ซึ่งแต่ละปีจะพบว่ามีประชาชนเสียชีวิตจากภัยหนาวทุกปี เนื่องจากใช้วิธีการคลายหนาวเย็นด้วยวิธีผิดๆ โดยการดื่มเหล้า เพราะเชื่อว่าสามารถช่วยคลายหนาวได้ กรมสบส.ได้ดำเนินการสำรวจความเชื่อในเรื่องนี้ เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.2559 ในกลุ่มประชาชนอายุ 15 ปีขึ้นไป ครอบคุลม 4 ภาค จำนวน 501 ตัวอย่าง เป็นเพศชายร้อยละ 38 ที่เหลือเป็นเพศหญิง ผลปรากฏว่า กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 29 ยังมีความเชื่อว่า การดื่มเหล้าแก้หนาวได้ ซึ่งถือว่าเป็นความเชื่อที่ไม่ถูกต้องและเป็นอันตรายต่อผู้ดื่มมาก
นายแพทย์ประภาส กล่าวว่า สาเหตุที่ประชาชนเข้าใจผิดว่าดื่มสุราแล้วจะแก้หนาวได้ เนื่องจากหลังดื่มระยะแรก ฤทธิ์ของแอลกอฮอล์จะทำให้หลอดเลือดฝอยที่อยู่ใต้ผิวหนังเกิดการขยายตัว ทำให้ผู้ดื่มรู้สึกร้อนวูบวาบเหมือนว่าร่างกายอบอุ่นขึ้น ซึ่งผลเสียจากการที่หลอดเลือดฝอยขยายตัว จะเป็นช่องทางให้ความร้อนในร่างกายถูกระบายออกได้ง่ายขึ้น
ดังนั้นยิ่งดื่มเหล้ามากขึ้นเท่าใด ความร้อนก็จะถูกระบายออกจากร่างกายมากขึ้นไปด้วย ผลที่ตามมาจะทำให้อุณหภูมิในร่างกายลดต่ำลงกว่าปกติ มีภาวะอาการตัวเย็นที่ทางการแพทย์เรียกว่า ไฮโปเธอร์เมีย (Hypothermia) โดยในระยะแรกจะมีอาการสั่น พูดอ้อแอ้ ง่วงซึม สับสน ความสามารถในการคิดและตัดสินใจด้อยลง และต่อมาอาจมีอาการเพ้อ ไม่รู้สึกตัว หมดสติ และหยุดหายใจ ซึ่งอาการที่เกิดขึ้นบางคนเข้าใจผิดคิดว่าเมาสุราทั่วๆไป
นอกจากนี้ ฤทธิ์ของแอลกอฮอล์ยังกดประสาทส่วนกลาง ทำให้ผู้ดื่มมีอาการง่วงซึม หมดสติ ซึ่งการดื่มสุราในช่วงอากาศเย็นยิ่งเพิ่มความเสี่ยงมากขึ้น เนื่องจากความหนาวเย็นทำให้การไหลเวียนของเลือดยากลำบาก ทำให้อวัยวะขาดออกซิเจน ส่งผลให้หัวใจต้องสูบฉีดโลหิตไปเลี้ยงทั่วร่างกายและทำงานหนักขึ้น ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการช็อกและเสียชีวิตในที่สุด ในการป้องกันการเสียชีวิตจากความเข้าใจผิด กรมสบส.ได้ประสานให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน โดยเฉพาะภาคเหนือ และตะวันออกเฉียงเหนือที่มีอากาศหนาวเย็นกว่าพื้นที่อื่น ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ประชาชนผ่านทางหอกระจายข่าวของหมู่บ้านอย่างต่อเนื่อง
นายแพทย์ประภาส กล่าวต่อไปว่า การดูแลร่างกายให้อบอุ่นในช่วงฤดูหนาว ขอแนะนำให้ประชาชนปฏิบัติตัวดังนี้ สวมใส่เสื้อผ้าให้ร่างกายเกิดความอบอุ่นอย่างเพียงพอ โดยเฉพาะที่บริเวณศีรษะ ลำคอ หน้าอก และอาจใส่ถุงมือถุงเท้าด้วยเพื่อเพิ่มความอบอุ่นให้ร่างกาย, ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด, รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่, ดื่มน้ำอุ่นหรือน้ำธรรมดาวันละไม่ต่ำกว่า 8 แก้ว หรือประมาณ 2 ลิตร, ออกกำลังกายไม่ต่ำกว่าวันละครึ่งชั่วโมง อย่างต่ำสัปดาห์ละ 3 วัน โดยเฉพาะในเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ขอให้ดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ
ข่าวเด่น