รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (ฉบับย่อ) ครั้งที่ 7/2559 วันที่ 9 พฤศจิกายน 2559 ธนาคารแห่งประเทศไทย เผยแพร่ ณ วันที่ 23 พฤศจิกายน 2559กรรมการที่เข้าร่วมประชุม นายวิรไท สันติประภพ (ประธาน) นายเมธี สุภาพงษ์ (รองประธาน) นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน นายจาลอง อติกุล นายปรเมธี วิมลศิริ นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ นายอภิชัย บุญธีรวร
ภาวะเศรษฐกิจต่างประเทศ
เศรษฐกิจคู่ค้าของไทยมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่ใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ในการประชุมครั้งก่อน โดยเศรษฐกิจกลุ่มประเทศ G3 ยังคงฟื้นตัวได้ตามการบริโภคภาคเอกชนและมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง สอดคล้องกับดัชนีภาคการผลิตที่ปรับดีขึ้นและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่อยู่ในเกณฑ์ดี สำหรับเศรษฐกิจเอเชียยังมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป แม้การบริโภคภาคเอกชนในบางประเทศชะลอลงบ้างตาม อัตราการว่างงานที่ปรับตัวสูงขึ้นและปัจจัยเฉพาะอื่น ๆ ขณะที่การส่งออกมีเสถียรภาพมากขึ้น โดยค่อย ๆ ฟื้นตัวจากระดับต่ำ
ความเสี่ยงต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในระยะต่อไปโน้มไปด้านต่ำมากขึ้น จากความไม่แน่นอนที่สืบเนื่องจากพัฒนาการทางการเมืองในสหรัฐฯ และยุโรป โดยผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ และนโยบายเศรษฐกิจใหม่อาจจะมีผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศและความเชื่อมั่นของภาคเอกชน ขณะที่การเจรจาข้อตกลงการค้าการลงทุนระหว่างสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรปที่อาจนำไปสู่ข้อจำกัดด้าน การเข้าถึงตลาดและการเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่างประเทศหลังจากสหราชอาณาจักรออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป อาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหราชอาณาจักรและเศรษฐกิจยุโรปได้มากกว่าคาด นอกจากนี้ ปัญหาภาคการเงินในยุโรปและจีนยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป
คณะกรรมการฯ ประเมินว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังเปราะบางส่วนหนึ่งเป็นผลจาก การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง อาทิ บทบาทที่เพิ่มมากขึ้นของภาคบริการ และพัฒนาการของเทคโนโลยี การผลิตใหม่ ๆ ได้ทาให้การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรในปริมาณมากมีความจำเป็นลดลง ประกอบกับความไม่แน่นอนในเศรษฐกิจโลกที่มีอยู่สูงทำให้ภาคธุรกิจเลื่อนการลงทุนออกไป ปัจจัยดังกล่าวมีผลให้ช่องว่างระหว่างการออมและการลงทุน (saving-investment gap) ยังอยู่ในระดับสูง รวมทั้งอาจนำไปสู่การลดต่ำลงของศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจของโลกในระยะยาว คณะกรรมการฯ จึงจะติดตามพัฒนาการดังกล่าวอย่างใกล้ชิด
ภาวะตลาดการเงิน
ความผันผวนในตลาดการเงินโลกปรับสูงขึ้นเมื่อเทียบกับการประชุมครั้งก่อน ส่วนความผันผวนในตลาดการเงินไทยปรับสูงขึ้นชั่วคราวจากปัจจัยภายในประเทศ โดยความกังวลของนักลงทุนเกี่ยวกับ ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เป็นปัจจัยหลักที่สร้างความผันผวนในตลาดการเงิน อย่างไรก็ดี แนวโน้ม การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) มีความชัดเจนมากขึ้นตามการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าที่ตลาดคาด ส่งผลให้นักลงทุนลดการถือครองสินทรัพย์ของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่รวมถึงไทย เงินบาทเทียบกับดอลลาร์ สรอ. จึงโน้มอ่อนค่าลง และเคลื่อนไหวผันผวนในช่วงเดือนตุลาคมจากปัจจัยภายในประเทศ อย่างไรก็ดี ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ปรับแข็งค่าขึ้นบ้างจากการประชุมครั้งก่อน โดยเป็นผลจากการแข็งค่าของเงินบาทเทียบกับสกุลหลักที่ไม่ใช่ดอลลาร์ สรอ. เป็นสำคัญ
สำหรับตลาดหลักทรัพย์และตลาดพันธบัตรในประเทศในภาพรวมมีทิศทางที่สอดคล้องกับตลาดในภูมิภาคแต่เคลื่อนไหวผันผวนในบางช่วงจากปัจจัยในประเทศ โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับการประชุมครั้งก่อนจากแรงขายของนักลงทุนต่างชาติ ขณะที่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทย(SET) กลับมีการปรับตัวสูงขึ้นจากแรงซื้อของนักลงทุนในประเทศ
คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศและอัตราแลกเปลี่ยนมีแนวโน้มผันผวนเพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้า เนื่องจากความไม่แน่นอนในต่างประเทศ โดยเฉพาะความไม่แน่นอนของทิศทางนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ภายใต้รัฐบาลชุดใหม่ รวมทั้งจังหวะหรือมาตรการที่ธนาคารกลางประเทศอุตสาหกรรมหลักอาจใช้ในการผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติม
นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ มีความกังวลเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรในตลาดการเงินโลกที่อยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องเป็นเวลานาน ซึ่งอาจไม่สะท้อนความเสี่ยงที่แท้จริง (underpricing of risks) และมีความเสี่ยงที่อาจดีดตัวกลับอย่างรวดเร็ว (yield snapback) หากพัฒนาการความเสี่ยงต่าง ๆ ไม่เป็นไปตามที่ตลาดคาดไว้ ซึ่งอาจส่งผลต่อเนื่องมายังอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรไทยได้ด้วย
ภาวะเศรษฐกิจในประเทศ
เศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มฟื้นตัวในอัตราที่ใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ในการประชุมครั้งก่อน โดยการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวดีกว่าคาด ส่วนหนึ่งเป็นผลของปัจจัยพิเศษ อาทิ การรวมฐานการผลิต(consolidation of production location) ของสินค้าบางประเภทมาผลิตที่ประเทศไทย และอุปสงค์ต่อสินค้าส่งออกไทยบางหมวดที่ปรับดีขึ้น
ในขณะเดียวกัน ภาคการท่องเที่ยวมีแนวโน้มชะลอลงจากมาตรการจัดระเบียบผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยว (ทัวร์ศูนย์เหรียญ) ซึ่งส่งผลกระทบต่อทั้งอุปทานของผู้ให้บริการในภาคการท่องเที่ยวและอุปสงค์ต่อการท่องเที่ยวในประเทศไทย สำหรับการบริโภคภาคเอกชนยังคงขยายตัวได้โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐแก่เกษตรกรบางกลุ่ม ค่าจ้างที่มีแนวโน้มสูงขึ้นตามการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำในปีหน้า และราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ตาม กิจกรรมบางประเภทโดยเฉพาะในหมวดบริการ อาจชะลอลงบ้างชั่วคราว ส่วนการใช้จ่ายภาครัฐยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนให้แก่เศรษฐกิจได้ต่อเนื่อง ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนโดยรวมยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำแม้ปรับดีขึ้นบ้างในบางอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการผลิตเพื่อการส่งออก สอดคล้องกับการระดมทุนของธุรกิจในภาคอุตสาหกรรมที่มีสัญญาณปรับดีขึ้นบ้างเช่นกัน
คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในทิศทางของการฟื้นตัวแต่มีความเสี่ยงด้านต่ำสูงขึ้นจากความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่เพิ่มขึ้น ซึ่งอาจมีผลต่อการส่งออกสินค้าของไทย และจากปัจจัยภายในประเทศ โดยเฉพาะผลกระทบของการจัดระเบียบทัวร์ศูนย์เหรียญ ซึ่งอาจทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวจีนน้อยกว่าประมาณการเดิม
สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนตุลาคมชะลอลงเล็กน้อยตามราคาอาหารสด ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังทรงตัวในระดับที่ใกล้เคียงกับที่ได้คาดการณ์ไว้ คณะกรรมการฯ ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ และมีความเสี่ยงที่จะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายช้ากว่าที่ประเมินไว้เดิมโดยขึ้นอยู่กับราคาอาหารสดและพัฒนาการของราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง แต่โดยรวมอัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังมีทิศทางทยอยปรับสูงขึ้น ขณะที่การคาดการณ์เงินเฟ้อในระยะปานกลางของสาธารณชนยังอยู่ในระดับใกล้เคียงกับเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อ
คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเสถียรภาพการเงินโดยรวมยังอยู่ในเกณฑ์ดี สามารถรองรับปัจจัยลบและความผันผวนในตลาดการเงินที่เกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี แต่ต้องติดตามความเสี่ยงในบางจุด อาทิ คุณภาพสินเชื่อที่ด้อยลงทั้งในสินเชื่อธุรกิจโดยเฉพาะสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และสินเชื่อครัวเรือน รวมทั้งพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (search for yield) โดยเฉพาะในกลุ่มตราสารหนี้ที่ไม่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (unrated bonds) ซึ่งหากผู้ลงทุนขาดความเข้าใจถึงความเสี่ยงจากการลงทุนอย่างเหมาะสมอาจนำไปสู่การประเมินความเสี่ยงที่ต่ำเกินไปและเป็นการสะสมความเปราะบางทางการเงินในระยะข้างหน้า
การดำเนินนโยบายที่เหมาะสม คณะกรรมการฯ เห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.50 ในการประชุมครั้งนี้ โดยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้ต่อเนื่องในอัตราที่ใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ในการประชุมครั้งก่อน แม้มีความเสี่ยงด้านต่ำเพิ่มขึ้นจากปัจจัยทั้งในและต่างประเทศ นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อยังมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นแต่อาจกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายช้ากว่าที่ประเมินไว้เดิมจากปัจจัยด้านอุปทานเป็นหลัก
สำหรับภาวะการเงินโดยรวมยังอยู่ในระดับที่ผ่อนคลายและเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ สะท้อนจากอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่อยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ในบางช่วงเวลาที่ผ่านมา เงินบาทโน้มแข็งค่าขึ้นบ้างเมื่อเทียบกับสกุลคู่ค้าคู่แข่งสำคัญ ซึ่งคณะกรรมการฯ เห็นว่าอาจไม่เป็นผลดีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย
คณะกรรมการฯ เห็นว่าการรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบาย (policy space) ยังมีความสำคัญในภาวะที่เศรษฐกิจไทยยังจะต้องเผชิญความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังเปราะบางและความไม่แน่นอนของทิศทางการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจและนโยบายการเงินของประเทศอุตสาหกรรมหลักที่จะส่งผลให้เงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศและอัตราแลกเปลี่ยนผันผวนมากขึ้น ปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้สามารถกระทบแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าและความต่อเนื่องของแรงส่งของเศรษฐกิจไทยอย่างมีนัยสำคัญ จึงควรรักษา policy space ไว้รองรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นรุนแรงในอนาคต
นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ เห็นว่าแม้เสถียรภาพการเงินยังอยู่ในที่เกณฑ์ดี แต่ยังคงต้องติดตามความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นในบางจุดต่อไปอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการด้อยลงของคุณภาพสินเชื่อและพฤติกรรม search for yield ในภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานาน
ในระยะต่อไป คณะกรรมการฯ เห็นว่านโยบายการเงินยังควรอยู่ในระดับผ่อนปรนอย่างเพียงพอและต่อเนื่อง โดยพร้อมจะใช้เครื่องมือเชิงนโยบายที่มีอยู่อย่างเหมาะสม เพื่อดูแลให้ภาวะการเงินโดยรวมเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพทางการเงินของประเทศ
ข่าวเด่น