ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ ธุรกิจและเศรษฐกิจฐานราก ธนาคารออมสินเผย ดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจฐานราก (GSI) ไตรมาสที่ 3 ปี 2559 ส่งสัญญาณดีขึ้น
นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจฐานราก (GSI) ประจำไตรมาส 3 ปี 2559 ได้ดำเนินการสำรวจจากกลุ่มตัวอย่างประชาชนที่มีรายได้ไม่เกิน 15,000 บาท ทั่วประเทศ จำนวน 1,526 ตัวอย่าง พบว่า GSI ประจำไตรมาสที่ 3 ปี 2559 ส่งสัญญาณดีขึ้น อยู่ที่ระดับ 49.0 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก ไตรมาสที่ 2 ปี 2559 ที่อยู่ระดับ 44.1 ประชาชนระดับฐานรากรู้สึกว่ามีความมั่นใจในสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในอนาคตว่าจะปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับการคาดหวังว่ารัฐบาลจะเน้นการใช้จ่ายเพื่อ การลงทุนและกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี จึงทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจฐานรากปรับตัวเพิ่มขึ้นเกือบใกล้เคียงปกติ (ระดับ 50)
“การที่ดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจฐานรากต่อสถานการณ์ใน 6 เดือนข้างหน้าปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 45.9 ใน ไตรมาสที่ 2 ปี 2559 มาอยู่ที่ระดับ 51.8 ในไตรมาสที่ 3 ปี 2559 สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนระดับฐานรากส่วนใหญ่ มีความมั่นใจต่อภาวะเศรษฐกิจในช่วง
6 เดือนข้างหน้าในระดับที่ดี เนื่องจากคาดหวังว่ารัฐบาลจะเน้นการใช้จ่ายเพื่อการลงทุนและกระตุ้น
เศรษฐกิจในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี เมื่อพิจารณาดัชนีความเชื่อมั่นใน ด้านต่างๆ เทียบกับไตรมาสที่ 2 ปี 2559 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นด้านการจับจ่ายใช้สอย การหารายได้ การออม ภาวะเศรษฐกิจ และการหางานทำ ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่วนด้านภาระหนี้สินปรับตัวลดลง” นายชาติชายฯ กล่าว
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ ธุรกิจ และเศรษฐกิจฐานราก คาดการณ์ว่าการบริโภคของภาคประชาชนน่าจะค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้น เนื่องจากการใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐจะเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจที่สำคัญและเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวดีขึ้นเป็นลำดับ อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของการบริโภคน่าจะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นในช่วงไตรมาสแรกของปี 2560 เป็นต้นไป ถ้าสถานการณ์ความผันผวนของเศรษฐกิจโลกคลี่คลายลง และประสิทธิภาพของการใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวขึ้นเป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยฯ ยังได้สำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับพฤติกรรมและทัศนคติเกี่ยวกับการใช้จ่ายของประชาชนระดับฐานราก โดยเมื่อสอบถามถึงลักษณะของรายได้หลักในปัจจุบัน จากการสำรวจ พบว่า เกินกว่าครึ่งได้รับรายได้เป็นรายเดือน (ร้อยละ 60.9) รองลงมาได้รับรายได้ไม่แน่นอน (ร้อยละ 19.9) ได้รับรายได้แบบเป็นรายวัน (ร้อยละ 17.0) และรายสัปดาห์ (ร้อยละ 1.9) ในส่วนของความถี่ในการรับรายได้หลัก พบว่าส่วนใหญ่ได้รับรายได้สม่ำเสมอตลอดทั้งปี (ร้อยละ 79.0) ได้รับเมื่อมีผู้มาจ้าง (ร้อยละ 18.8 ) และได้รับตามฤดูกาล โดยเฉลี่ยปีละ 2-3 ครั้ง (ร้อยละ 2.2) ทั้งนี้ แหล่งที่มาของรายได้หลัก 3 อันดับแรก คือ รายได้ที่เป็นเงินค่าจ้าง (ร้อยละ 52.5) จากการค้าขาย (ร้อยละ 29.2) และ จากการรับจ้างไม่ประจำ (ร้อยละ 11.3)
สำหรับในส่วนของพฤติกรรมการออม จากการสำรวจ พบว่า เกินกว่าครึ่งไม่มีการออม (ร้อยละ 58.4) ส่วนอีกร้อยละ 41.6 มีการเก็บออม โดยอัตราการออมเฉลี่ยอยู่ที่
ร้อยละ 15.4 ของรายได้ เมื่อถามถึงการทำบัญชี รายรับ-รายจ่าย พบว่า ส่วนใหญ่ไม่มีการทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย (ร้อยละ 72.1) และ มีเพียงร้อยละ 27.9 ที่มีการทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย และเมื่อสอบถามถึงการเป็นสมาชิกกองทุนที่เกี่ยวกับการออม พบว่า ครึ่งหนึ่งไม่ได้เป็นสมาชิกกองทุน ใดเลย (ร้อยละ 51.3) ส่วนกองทุนที่เป็นสมาชิกมากที่สุด คือ กองทุนประกันสังคม (ร้อยละ 37.3)
เมื่อถามถึงพฤติกรรมการใช้จ่ายในปัจจุบัน จากการสำรวจ พบว่า เกินกว่าครึ่งมีรายได้เพียงพอกับรายจ่าย (ร้อยละ 61.9) ส่วนอีกร้อยละ 38.1 มีรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย โดยพฤติกรรมการใช้จ่าย 4 อันดับแรกคือ ค่าอาหารและเครื่องดื่ม (ร้อยละ 30.3) ค่าที่อยู่อาศัย (ผ่อน/เช่า ร้อยละ 18.5) ค่าสาธารณูปโภค (ร้อยละ 13.4) และค่าเดินทาง(ร้อยละ 11.4) ทั้งนี้ เมื่อสอบถามวิธีการแก้ไข กรณีที่รายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย 4 อันดับแรก คือ ลดค่าใช้จ่าย (ร้อยละ 32.8) หารายได้เสริม (ร้อยละ 25.2) กู้ยืมนอกระบบ (ร้อยละ 17.8)และกู้ยืมในระบบ (ร้อยละ 14.8) โดยวิธี การลดค่าใช้จ่าย 3 อันดับแรก คือ ค่าใช้จ่ายที่มาจากอาหารและเครื่องดื่ม (ร้อยละ 28.2) ค่าไฟฟ้า/ ค่าน้ำ (ร้อยละ 15.2) และค่าเดินทาง (ร้อยละ 12.1)
ผลสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับความต้องการให้รัฐบาลดำเนิน การช่วยเหลือในเรื่องของการเพิ่มรายได้/ลดค่าใช้จ่าย จากการสำรวจ พบว่า 3 อันดับแรกที่ต้องการให้รัฐบาลช่วยดำเนินการ คือ ควบคุมราคาสินค้าจำเป็น (ร้อยละ 39.4) การหาอาชีพเสริมให้ (ร้อยละ 27.0) และการให้สวัสดิการแก่ผู้มีรายได้น้อย (ร้อยละ 13.8)
สรุปประเด็น ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ ธุรกิจ และเศรษฐกิจฐานราก ธนาคารออมสิน มองว่า ดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจฐานราก (GSI) ไตรมาสที่ 3 ปี 2559 ส่งสัญญาณดีขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 49.0 และแนวโน้มของ GSI ต่อสถานการณ์ อีก 6 เดือนข้างหน้าปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 51.8 เป็นครั้งแรกในรอบปี โดยประชาชนระดับฐานรากมีรายจ่ายหลัก 4 อันดับแรก คือ ค่าอาหารและเครื่องดื่ม ค่าที่อยู่อาศัย (ผ่อน/เช่า) ค่าไฟฟ้า/ค่าน้ำ และค่าเดินทาง สำหรับพฤติกรรม การใช้จ่ายบางส่วนมีรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย และมีวิธีการแก้ไขปัญหาโดยการลดค่าใช้จ่าย การหารายได้เสริม และการกู้ยืมใน/นอกระบบ ในขณะที่สถาบันการเงินอย่างธนาคารออมสินก็พร้อมให้ความช่วยเหลือลูกค้าด้วยวิธีการปรับตารางเวลาการผ่อนชำระหนี้สินเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน และกำหนดมาตรการผ่อนปรนเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ รวมทั้งสนับสนุนและให้ความรู้ทางการเงินแก่ผู้มีรายได้น้อยเพื่อสร้างวินัยในการใช้จ่าย นอกจากนี้ สิ่งที่ประชาชนระดับฐานรากมีความประสงค์ที่จะให้รัฐบาลดำเนินการให้ความช่วยเหลือ คือ เรื่องการควบคุมราคาสินค้าจำเป็น การหาอาชีพเสริมให้ และการให้สวัสดิการแก่ผู้มีรายได้น้อย เป็นต้น
ข่าวเด่น