โฆษกกระทรวงมหาดไทย เผยความคืบหน้าโครงการหมู่บ้านละ 2.5 แสนบาท เสนอโครงการมาแล้วกว่า 7.9 หมื่นโครงการ คาดโอนเงินเข้าบัญชีหมู่บ้านได้ต้นเดือนธันวาคมนี้
เมื่อ 24 พ.ย.59 นายชยพล ธิติศักดิ์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะโฆษกกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการปกครองเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินโครงการยกระดับศักยภาพหมู่บ้านเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐประจำปี 2560 (โครงการหมู่บ้านละ 2.5 แสนบาท) เพื่อพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ภูมิภาคทั้งทางด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม และด้านสาธาณประโยชน์ ที่สอดคล้องกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืน และเป็นไปตามความต้องการของประชาชน ในพื้นที่ตามแนวทางประชารัฐ ดำเนินการในหมู่บ้านทั้งหมด 74,655 หมู่บ้านทั่วประเทศ ภายในระยะเวลา 90 วัน ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2559 - 31 มกราคม2560 ที่ผ่านมากระทรวงมหาดไทยได้แจ้งแนวทางการดำเนินงานและแนวทางปฏิบัติต่างๆ ตามคู่มือ ให้แก่ จังหวัด อำเภอ และหมู่บ้าน ตลอดจนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายได้ทราบแล้ว
กระทรวงมหาดไทยขอเรียนให้ทราบถึงความก้าวหน้าของโครงการฯ ซึ่งได้ดำเนินการมาแล้วประมาณ 1 เดือนมีผลการดำเนินงานในภาพรวมเป็นไปแผนงานที่วางไว้ โดยคณะกรรมการหมู่บ้านได้มีการเรียกประชุมประชาคมหมู่บ้านเพื่อเสนอโครงการตามความต้องการของประชาชนครบแล้วทั้ง 74,655 หมู่บ้าน มีจำนวนโครงการที่หมู่บ้านเสนอมาแล้วจำนวน 79,142 โครงการ ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนที่คณะกรรมการบริหารงานอำเภอ (กบอ.) และหน่วยทหารในพื้นที่จะร่วมกันพิจารณาอนุมัติโครงการที่หมู่บ้านเสนอขึ้นมา และส่งผลการพิจารณาให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นชอบ โดยจะดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 25 พฤศจิกายนนี้ จากนั้นจังหวัดจะส่งให้กองจัดทำงบประมาณเขตพื้นที่ 1 – 18 พิจารณาแผนงานและแจ้งผลการพิจารณาให้จังหวัดทราบ คาดว่าจะเริ่มโอนเงินเข้าบัญชีหมู่บ้านได้ในช่วงต้นเดือนธันวาคมนี้
รองปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงมหาดไทยเน้นย้ำให้ทุกจังหวัด กำกับดูแล ติดตามความคืบหน้าโครงการอย่างใกล้ชิด ตลอดจนปัญหาอุปสรรคต่างๆ เพื่อรายงานให้กระทรวงมหาดไทยทราบทุกสัปดาห์ รวมทั้งประชาสัมพันธ์การดำเนินงานตามโครงการฯ ให้สาธารณชนได้รับทราบโดยทั่วกัน สำหรับอำเภอก็จะต้องทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้กับหมู่บ้านโดยเฉพาะในเรื่องของการเสนอโครงการของหมู่บ้านซึ่งจะต้องไม่ขัดกับข้อห้ามในคู่มือโดยเด็ดขาด และให้ใช้กลไกของคณะกรรมการบริหารงานอำเภอ หน่วยงานทหารในพื้นที่ ชุดปฏิบัติการประจำตำบล กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน รวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ให้การสนับสนุนด้านต่างๆ เพื่อให้คณะกรรมการหมู่บ้านสามารถดำเนินการตามโครงการให้แล้วเสร็จตามกรอบระยะเวลาที่กำหนดและเป็นไปตามความต้องการของประชาชน สอดคล้องตามแนวทางประชารัฐที่เน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน และทำให้โครงการที่เกิดขึ้นนั้นเกิดประโยชน์ต่อประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง
ข่าวเด่น