การรถไฟฯ ดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล จัดประชุมร่วมคณะกรรมการรถไฟฯ และผู้บริหาร เดินหน้าจัดทำยุทธศาสตร์การรถไฟแห่งประเทศไทย ชู 6 แนวทาง ดำเนินงานทำแผนบริหารการเดินรถด้านขนส่งสินค้า-ผู้โดยสาร จัดทำแผนด้านลงทุน-พัฒนาบริการ พร้อมทำข้อมูลและแผนพัฒนาที่ดิน หวังมุ่งเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย เพิ่มประสิทธิภาพองค์กรอย่างยั่งยืน
สืบเนื่องจากการที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญในการพัฒนาหน่วยงานรัฐวิสาหกิจของประเทศอย่างจริงจังเพื่อนำไปสู่การวางรากฐานการพัฒนาประเทศในระยะยาวโดยมีนโยบายให้หน่วยงานรัฐวิสาหกิจต่างๆ ดำเนินการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ภายในหน่วยงานเพื่อใช้เป็นแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพ ลดปัญหาอุปสรรคการทำงาน และเพิ่มขีดความสามารถภายในแก่องค์กร
นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การรถไฟฯ ได้เร่งดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง โดยได้มีการจัดประชุมระหว่างคณะกรรมการรถไฟฯ กับผู้บริหารการรถไฟฯ ในการจัดทำยุทธศาสตร์การรถไฟแห่งประเทศไทยขึ้น เพื่อใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาองค์กรสู่การเป็นองค์กรชั้นนำ โดยมีเป้าหมายในการเร่งเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย และพัฒนาประสิทธิภาพในการบริหารจัดการด้านต่างๆ แก่องค์กร
ทั้งนี้ในที่ประชุมได้สรุปแนวทางการจัดทำแผนการดำเนินงานในยุทธศาสตร์การรถไฟแห่งประเทศไทย แบ่งเป็น 6 ด้าน ประกอบด้วย
1.จัดทำแผนการเพิ่มรายได้จากการขนส่งผู้โดยสาร
2.จัดทำแผนการเพิ่มรายได้จากการขนส่งสินค้า
3.จัดทำแผนการลงทุนด้านต่างๆ ประกอบกับ การจัดทำแผนการปรับปรุงคุณภาพการให้บริการโดยมุ่งเน้นให้ผู้ใช้บริการได้รับความสะดวก ตรงต่อเวลา ปลอดภัย
4.พิจารณาสิ่งที่จะขอรับการสนับสนุนจากภาครัฐเพิ่มเติม นอกเหนือจากการขอรับการสนับสนุนทางการเงิน เช่น การแก้ไขกฎระเบียบ การลดระยะเวลาในกระบวนการ การให้ภาคเอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ(พีพีพี) เป็นต้น
5.จัดทำระบบฐานข้อมูลด้านการบริหารทรัพย์สิน เพื่อให้สามารถนำข้อมูลไปใช้ในการบริหารจัดการต่อไปได้
6.จัดทำแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพย์สินทั้งหมด โดยมีการรถไฟฯ ทำหน้าที่กำกับดูแล และเป็นผู้บริหารเอง
นายวุฒิชาติกล่าวต่อว่า ในการประชุมจัดทำยุทธศาสตร์การรถไฟแห่งประเทศไทย ยังเห็นควรให้การรถไฟฯ มีการปรับกลยุทธ์การให้บริการเดินรถใหม่ โดยควรเน้นการให้บริการขนส่งสินค้ามากกว่า การขนส่งผู้โดยสาร เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายภาครัฐที่ต้องการให้การขนส่งทางรางเป็นการขนส่งหลักของประเทศ และส่งผลให้ต้นทุนโลจิสติกส์ในภาพรวมของประเทศลดลง ขณะที่การขนส่งผู้โดยสารควรทำการตลาดที่สามารถแข่งขันในตลาดการขนส่งระยะสั้นมากกว่าเส้นทางระยะไกล
“หลังจากนี้ยังได้มอบหมายให้ฝ่ายและสำนักงานที่เกี่ยวข้องของแต่ละเรื่อง เร่งรวบรวมนำเสนอแนวคิด ทิศทาง ปัญหาอุปสรรค และแผนการดำเนินงานตามนโยบายของคณะกรรมการรถไฟฯ โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับแนวทางการจัดทำยุทธศาสตร์ทั้ง 6 ด้าน เพื่อนำกลับรายงานในการประชุมครั้งต่อไปโดยการรถไฟฯ จะมีการติดตามดำเนินงานอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง เพื่อเร่งจัดทำแผนยุทธศาสตร์ฯให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด เพื่อใช้เป็นแนวทางในการกำกับการบริหารจัดการการรถไฟฯ ให้เติบโตได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนต่อไป”
ข่าวเด่น