วันนี้ (28 พ.ย. 59) เวลา 09.30 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการฝ่ายจัดสร้างพระเมรุมาศ สิ่งปลูกสร้างประกอบพระเมรุมาศและบูรณปฏิสังขรณ์ราชรถและพระยานมาศ งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ครั้งที่ 1/2559 โดยมี นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ผู้แทนสำนักพระราชวัง และผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมประธานฯ ได้แถลงผลการประชุมว่า
การประชุมคณะกรรมการฝ่ายจัดสร้างพระเมรุมาศฯ ถือเป็นการประชุมครั้งแรก โดยได้มีการเชิญผู้แทนจากสำนักพระราชวัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือร่วมกันเกี่ยวกับการดำเนินการในพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ โดยได้มีการนำร่างแบบพระเมรุมาศ พระโกศจันทร์ ตลอดจนความคืบหน้าในส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และแผนงานที่จะต้องดำเนินการมาร่วมกันหารือ เพื่อให้การจัดงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและสมพระเกียรติยศทุกประการ โดยการจัดสร้างพระเมรุมาศและองค์ประกอบของงานในทุก ๆ ด้าน คาดว่าจะให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2560 และกรมศิลปากรจะกำหนดฤกษ์บวงสรวงบูรณะราชรถ และพระยานมาศ ในวันจันทร์ที่ 19 ธันวาคม 2559 ณ โรงราชรถ ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เพื่อใช้ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
สำหรับการประชุมในครั้งนี้ ที่ประชุมรับทราบความคืบหน้าในการจัดสร้างพระเมรุมาศและสิ่งปลูกสร้างประกอบพระเมรุมาศฯ โดยยึดหลักแนวคิดในการออกแบบและจัดสร้างพระเมรุมาศอย่างสมพระเกียรติ ซึ่งได้ศึกษาและออกแบบตามหลักโบราณราชประเพณีการสร้างพระเมรุมาศของพระมหากษัตริย์ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ อีกทั้ง ยังได้ใช้แนวคิดคติไตรภูมิตามคัมภีร์พุทธศาสนา และคติความเชื่อเรื่องพระมหากษัตริย์ในสถานะเสมือนสมมติเทพ ตามระบอบเทวนิยม โดยในส่วนของงานสถาปัตยกรรมได้แบ่งอาคารออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มอาคารในมณฑลพิธี ณ บริเวณท้องสนามหลวง ประกอบด้วย พระเมรุมาศ เป็นประธานในมณฑลพิธี ออกแบบโดยยึดถือคติตามโบราณราชประเพณี รูปแบบเฉพาะสำหรับพระมหากษัตริย์ เป็นพระเมรุมาศทรงบุษบก สูง 50.49 เมตร มีชั้นเชิงกลอน 7 ชั้น ผังพื้นที่ใช้งานเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาดกว้างด้านละ 60 เมตร มีบันไดทั้งสี่ด้าน ฐานยกพื้นที่สูง มี 3 ชั้น ชั้นบน ที่มุมทั้งสี่ ประกอบด้วย ช่างทรงบุษบก ชั้นเชิงกลอนห้าชั้น สำหรับพิธีธรรมสวดพระอภิธรรม ฐานชั้นที่ 2 ประกอบด้วยซุ้มทรงบุษบกรูปแบบเดียวกัน รวมสิ่งก่อสร้างมีเครื่องยอดนับรวมได้ 9 ยอด
พระที่นั่งทรงธรรม เป็นอาคารชั้นเดียวยกฐานสูง ขนาดกว้าง 44.50 เมตร ยาว 15.5 เมตร ตั้งอยู่กึ่งกลางด้านทิศตะวันตกของพระเมรุมาศ สำหรับเป็นที่ประทับและบำเพ็ญพระราชกุศลในการพระราชพิธี และเป็นที่สำหรับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เฝ้า โดยเตรียมพื้นที่สำหรับผู้เข้าร่วมพระราชพิธี ประมาณ 2,800 ที่นั่ง นอกจากนี้ ยังมี ศาลาลูกขุน เป็นที่เฝ้าของข้าราชการ ทับเกษตร ใช้เป็นที่สำหรับข้าราชการที่มาในพระราชพิธี พักและฟังสวดพระอภิธรรม ทิม สำหรับเจ้าพนักงาน พระสงฆ์ แพทย์หลวงพัก และใช้เป็นที่ตั้งเครื่องประโคมและทำเป็นห้องสุขา
กลุ่มอาคารนอกมณฑลพิธี ได้แก่ เกยลา บริเวณกำแพงแก้วพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พลับพลาหน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม พลับพลาหน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท และพลับพลายกหน้ามณฑลพิธีท้องสนามหลวง
การออกแบบภูมิทัศน์ มีการศึกษาเรื่องราวพระราชกรณียกิจและโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อเป็นข้อมูลในการคิดออกแบบสร้างสรรค์ในแต่ละส่วนพื้นที่รอบมณฑลพิธีโดยรอบพระเมรุมาศ มีการสร้างสระน้ำบริเวณ 4 มุม และได้จำลองกังหันชัยพัฒนา เครื่องดันน้ำ ซึ่งเป็นโครงการในพระราชดำริ ในการออกแบบภูมิทัศน์
งานศิลปกรรมประกอบพระเมรุมาศ ประกอบด้วย งานศิลปกรรมประกอบอาคาร ฉัตร เทวดา สัตว์หิมพาน ประติมากรรมประกอบพระเมรุมาศ งานเขียนฉากบังเพลิง และจิตรกรรมฝาผนังแสดงเรื่องราวตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
การจัดสร้างพระโกศพระบรมอัฐิ จะดำเนินการจัดสร้าง จำนวน 6 พระโกศ ประกอบด้วย พระโกศหลัก 1 พระโกศ พระโกศรอง 5 พระโกศ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการออกแบบและจะนำกราบบังคมทูล สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อทรงมีพระราชวินิจฉัยต่อไป
การจัดสร้างพระโกศจันทร์ ได้มีการออกแบบลายเส้นเสร็จแล้ว โดยนายช่างศิลปกรรมอาวุโสเป็นผู้ออกแบบ
การบูรณปฏิสังขรณ์ราชรถ ราชยาน และพระยานมาศ เพื่อเตรียมความพร้อมของราชรถ ราชยานทุกองค์ที่จะใช้ในขบวนพระอิสริยยศในพระราชพิธีฯ โดยกรมศิลปากรจะดำเนินงานบูรณะ ซ่อมแซม และอนุรักษ์ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และงานตกแต่ง งานประดับส่วนต่าง ๆ ที่เป็นงานประณีตศิลปกรรม กรมสรรพาวุธทหารบก และกรมอู่ทหารเรือ จะดำเนินการศึกษา ตรวจสอบสภาพโครงสร้างของราชรถ ราชยาน ระบบกลไก การเคลื่อนที่ การชักลาก ให้มีความมั่นคงแข็งแรงต่อไป
สำหรับการจัดเตรียมพื้นที่สนามหลวงนั้น กรุงเทพมหานครได้จัดให้มีกิจกรรม Big Cleaning Day พื้นที่โดยรอบสนามหลวงและพระบรมมหาราชวังในวันที่ 1 และ 2 ธันวาคมนี้ โดยขอความร่วมมือจิตอาสาที่สนใจจะเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว จากนั้น จะส่งมอบพื้นที่ให้กับกรมศิลปากร เพื่อจัดสร้างพระเมรุมาศ ในวันที่ 10 มกราคม 2560 โดยคาดว่าจะสร้างแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2560
ข่าวเด่น